ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ม.แม่โจ้ แถลงความสำเร็จการปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในระดับอุตสาหกรรม ตามความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข พบต้นทุนต่ำสุด แต่ได้ผลผลิตที่ดีทั้งคุณภาพและปริมาณ “อนุทิน” เตรียมนำเก็บเกี่ยวรุ่นแรก 15 ม.ค. 63
วันนี้ (6 ม.ค. 63) ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.วีรพล ทองมา รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมด้วย ดร.อำนวย ยศสุข นายกสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้, นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.อิสระ เจียวิริยบุญญา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี พร้อมด้วย ผศ.พาวิน มะโนชัย รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ ศ.ดร.อาณัฐ ตันโช หัวหน้าโครงการผลิตดอกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ร่วมกันเปิดแถลงข่าว ความสำเร็จโครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ 12,000 ต้น ในระบบเกษตรอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม
รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า โครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาเพื่อทางการแพทย์ในระบบอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยแม่โจ้กับกระทรวงสาธารณสุข โดยทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกรมการแพทย์ องค์การเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในโครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาเพื่อทางการแพทย์ 12,000 ต้น ในระบบเกษตรอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้
กระทั่งเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 62 และในวันที่ 4 ก.ย. 62 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการพืชเสพติดให้ปลูกกัญชา รุ่นแรกได้จำนวน 12,000 ต้น โดยใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้รับจากกรมการแพทย์ ชื่อพันธุ์อิสระ 01 (ISSARA 01) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีสาร CBD และ THC ระดับสมดุล และในวันที่ 21 ก.ย. 62 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางมาเยี่ยมชม และปลูกกัญชาต้นแรกในโรงเรือนอัจฉริยะ ณ ฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
ขณะที่ ศ.ดร.อาณัฐ ตันโช ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า การปลูกกัญชาตามโครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาเพื่อทางการแพทย์ 12,000 ต้น ในระบบเกษตรอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้นั้น ถือว่าเป็นความสำเร็จของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในการปลูกกัญชาระบบเกษตรอินทรีย์ในระบบอุตสาหกรรม กัญชาพันธุ์อิสระ 01 นั้นเป็นกัญชาพันธุ์ไทยแท้ 100% ส่วนวิธีการปลูกนั้นเป็นการปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ Smart Organic Farming ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่คิดค้นโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จาก IFOAM และ USDA
ทั้งนี้ การปลูกกัญชารุ่นแรก 12,000 ต้นนั้น ได้ปลูกในโรงเรือนพื้นที่ 3,400 ตร.ม. โดยปลูกในระยะชิดด้วยการจัดทรงต้น การจัดเตรียมธาตุอาหารพืชในระบบอินทรีย์ การจัดให้มีแสงปกติ และมีการเพิ่มระยะเวลาการให้แสงเพื่อยืดระยะเวลาการเจริญเติบโตเพื่อให้ลำต้นสมบูรณ์ก่อนมีช่อดอก การจัดสารชีวพันธ์ในการกำจัดศัตรูพืช เพื่อควบคุมโรคและแมลง และใช้วัสดุอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์ ในรูปของเหลวที่เน้นธาตุอาหารที่จำเป็นของกัญชาในระบบเกษตรอินทรีย์เพื่อให้ผลผลิตที่สมบูรณ์ และเน้นการกระตุ้นให้ออกดอกด้วยฉี่ไส้เดือนดินจากสายพันธ์ท้องถิ่นไทย ซึ่งผลิตจากศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
นอกจากนี้ ศ.ดร.อาณัฐกล่าวด้วยว่า การปลูกกัญชาในโครงการดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นความสำเร็จของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่สามารถปลูกกัญชาระบบเกษตรอินทรีย์ ในระดับอุตสาหกรรมเป็นแห่งแรกของเอเชีย โดยใช้กัญชาพันธุ์ไทยแท้ด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ และเป็นต้นกัญชาที่มีลักษณะที่สมบูรณ์ ที่มีความสูงกว่ามาตรฐานและใช้เทคโนโลยีในการทำให้ต้นกัญชาที่ปลูกเป็นเพศเมียมากที่สุดและสามารถออกดอกประมาณ 8 ช่อต่อ 1 ต้น โดยแต่ละช่อจะมีน้ำหนักประมาณ 250 กรัมขึ้นไป จนถึง 1 กิโลกรัม และที่สำคัญคือ มีสาร CBD และ THC ที่มีสัดส่วนเท่ากันซึ่งเหมาะสมในการเอาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มากที่สุด
ขณะเดียวกัน พบว่าการปลูกกัญชาตามโครงการความร่วมมือนี้มีจุดสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ มีต้นทุนการผลิตต่อต้นถูกที่สุด โดยค่าใช้จ่ายในการปลูกต่อต้นเฉลี่ยต้นละไม่เกิน 750 บาทเท่านั้น โดยไม่รวมต้นทุนโรงเรือนซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในปัจจุบัน สำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตกัญชาตามโครงการนี้นั้น คาดว่าในการปลูกครั้งแรกนี้จะได้ผลผลิตดอกกัญชาสดไม่น้อยกว่า 10,000 กิโลกรัม หรือ 10 ตัน เพื่อส่งมอบให้กรมการแพทย์และองค์การเภสัชกรรม และในวันที่ 15 ม.ค. 63 นี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเดินทางมาตัดช่อกัญชาช่อแรกที่ฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ด้วย
ด้าน นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผลผลิตที่ได้จากความร่วมมือในครั้งนี้จะได้น้ำมันกัญชาเกรดทางการแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐานครบวงจรตั้งแต่การปลูก การสกัดเป็นยาซึ่งกรมการแพทย์จะได้นำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยควบคู่ไปกับการวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยการปลูกกัญชาในครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งในการพัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และถือว่าค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจที่กัญชาที่ปลูกได้นี้มีสาร CBD และ THC ที่มีสัดส่วนเท่ากันเหมาะสมในการนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์
ส่วน นพ.อิสระ เจียวิริยบุญญา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี กล่าวว่า ผลผลิตกัญชาที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้จากการปลูกตามโครงการนี้ในครั้งแรกนี้น่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตสดได้ทั้งสิ้นประมาณ 10,000 กิโลกรัม หรือประมาณ 10 ตัน ซึ่งจะทำเป็นผลผลิตแห้งได้ประมาณ 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัม โดยในจำนวนนี้ 400 กิโลกรัมจะมอบให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อศึกษาวิจัยพัฒนาตำรับยาไทยเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานีต่อไป และให้มหาวิทยาลัยมหิดลศึกษาวิจัยในเรื่องฤทธิ์ของสารที่มีผลต่อเซลล์ด้วย ส่วนอีก 600 กิโลกรัมจะส่งมอบให้กรมการแพทย์เพื่อนำไปสกัดผลิตเป็นยาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์