xs
xsm
sm
md
lg

แม่โจ้โพลล์ เผยคนไทยร้อยละ 86.89 ซื้อผักและผลไม้จากตลาดสด แต่ยังไม่มั่นใจต่อความปลอดภัย (จาก 3 สารเคมี) ถึงร้อยละ 79.31

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในการบริโภคผักและผลไม้ของไทยในปัจจุบัน โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลประชาชนทั่วไปในแต่ละภาค (ภาคเหนือ ร้อยละ 34.15 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 18.37 ภาคกลาง ร้อยละ 41.16 และภาคใต้ ร้อยละ 6.31) จำนวนทั้งสิ้น 1,426 ราย ระหว่างวันที่ 1 - 15 ธันวาคม 2562 ในหัวข้อ “คนไทยกับความเชื่อมั่นในการบริโภคผักและผลไม้”
วัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ 1) พฤติกรรมการเลือกซื้อผักและผลไม้ที่นำมาบริโภคในครัวเรือน 2) ความเชื่อมั่นในการบริโภคผักและผลไม้ของประเทศไทยในปัจจุบัน และ3) ความคิดเห็นต่อการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิดในอุตสาหกรรมการเกษตรในปี 2563


สรุปผลการสำรวจได้ดังต่อไปนี้
จากการสอบถามถึงการบริโภคผักและผลไม้ในครัวเรือน พบว่า ร้อยละ 51.33 นั้นได้มาจากการซื้อบริโภค
โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.89 เลือกซื้อสินค้าจากตลาดสด รองลงมา ร้อยละ 16.39 เลือกซื้อจากห้างสรรพสินค้า ร้อยละ 12.70 เลือกซื้อจากตลาดอินทรีย์ และมีเพียงร้อยละ 48.67 นั้นเลือกปลูกทานเอง ตามลำดับ
เมื่อทำการสอบถามถึงเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาในการเลือกซื้อผลไม้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 62.17 เลือกจาก
ราคาสินค้า รองลงมาอันดับ 2 ร้อยละ 49.33 เลือกจากฉลากมาตรฐานความปลอดภัยของผักและผลไม้ อันดับ 3 ร้อยละ 42.98 เลือกจากแหล่งจำหน่าย อันดับ 4 ร้อยละ 38.32 เลือกจากประเภทบรรจุภัณฑ์ อันดับ 5 ร้อยละ 30.63 เลือกจากการเปรียบเทียบราคาของผักและผลไม้ตามชนิดนั้นๆ และอันดับ 6 ร้อยละ 12.21 เลือกจากแบรนด์ หรือยี่ห้อสินค้า
จากการสำรวจความมั่นใจและความปลอดภัยของผักและผลไม้ พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.31 ไม่มั่นใจในความปลอดภัยของผักและผลไม้ โดยให้เหตุผลว่า 1) การทำการเกษตรของคนไทยยังคงมีการใช้สารเคมีในปริมาณที่สูง 2) ยังคงไม่มีหน่วยงานใดที่เข้ามารับผิดชอบอย่างเป็นทางการ และ3) ยังคงพบเจอข่าวประเด็นการพบสารปนเปื้อนในผักและผลไม้อยู่เป็นประจำ
เมื่อสอบถามถึงการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิดนี้ (พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส) ที่ในอุตสาหกรรมการเกษตรในปี 2563 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.66 บอกเห็นด้วยในการยกเลิกใช้สารเคมี โดยให้เหตุผล ว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความใส่ใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น จึงต้องการบริโภคผักและผลไม้ที่ปลอดภัย มีเพียงร้อยละ 12.34 เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผล เนื่องจากยังคงเป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ได้ในพืชและสัตว์ เพื่อกำจัดศัตรูพืชที่ไปทำลายผักและผลไม้ของเกษตรกร และเมื่อสอบถามความคิดเห็นของการยกเลิกใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ดังกล่าวนั้น จะสามารถลดการปนเปื้อนของสารเคมีในผักและผลไม้ตาท้องตลาดนั้น พบว่า ร้อยละ 76.09 ลดการปนเปื้อนได้จริง และอีกร้อยละ 23.91 ไม่สามารถลดได้
ส่วนข้อเสนอแนะถึงวิธีการของผู้บริโภคที่มีความต้องการบริโภคผักและผลไม้อย่างปลอดภัย ผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นว่าควรมีการดำเนินการดังนี้ 1) มีมาตรการให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีอย่างจริงจัง 2) ปรับแนวคิดของเกษตรยุคใหม่ ในการผลิตผักให้ปลอดภัยและมีคุณภาพ แทนการผลิตผักจากการใช้ยาฆ่าแมลง เพื่อให้ผักสวยงามเพียงอย่างเดียว และ3) ควรลด ละ เลิก การผลิตและจำหน่ายสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ


ความน่ากังวลจากความนิยมในการบริโภคผักและผลไม้เฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น 
ความปลอดภัยของสารเคมีที่ไม่มีข้อกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจน ต่อมากรมส่งเสริมการเกษตรได้เล็งเห็นความสำคัญของการเกษตรเพิ่มขึ้น จึงมีมาตรการรณรงค์ส่งเสริมให้แก่เกษตรกรผู้ทำอาชีพปลูกผักและผลไม้ ต้องเข้าร่วมนโยบายเลิกใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ดังกล่าวนี้ ที่เป็นสารก่อเกิดผลกระทบต่อร่างกายภายในอนาคต ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ออกการควบคุมมาตรการใช้สารเคมี 3 ชนิด ให้แก่ เกษตรกรผู้ปลูกผักและผลไม้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคได้มั่นใจมากขึ้น นอกจากนี้ทางภาครัฐต้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อตรวจสอบและการควบคุมปริมาณของสารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในผักและผลไม้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายมีส่วนรับรู้และตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยของเราเป็นเมืองที่ปลอดสารเคมีในพืชผักและผลไม้


กำลังโหลดความคิดเห็น