กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้หน่วยที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการและเร่งขับเคลื่อน “โครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร” ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2561 เป็นหนึ่งกลไกที่จะช่วยปฏิรูปการใช้ปุ๋ยของเกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับการใช้ปุ๋ย สูตรที่มีธาตุอาหารพืชเหมาะสม ตามค่าการวิเคราะห์ดินในแต่ละพื้นที่ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย ที่ส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณของผลผลิตที่จะได้รับแล้ว ที่สำคัญยังสามารถลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร ได้ค่อนข้างมาก และส่งผลต่อการช่วยเพิ่มรายได้ของเกษตรกรในที่สุด
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร บูรณาการร่วมกับสถาบันเกษตรกร ทั้งสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร รวมถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมกันดำเนินโครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร” ระยะเวลา 2 ปี (2561-2563) โดยกรมพัฒนาที่ดินจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ และวิธีการผสมปุ๋ยใช้เองให้เหมาะกับสภาพดินและพืชที่จะเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่ กรมวิชาการเกษตรจะเข้ามาดูแลเรื่องการผลิตคุณภาพปุ๋ย แนะนำวิธีการผสมปุ๋ยและการเก็บรักษาเพื่อให้ใช้ได้นาน พร้อมทั้งออกใบรับรองปุ๋ยที่ผลิตโดยสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตรจะแนะนำเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยสำหรับช่วงฤดูทำนาหรือทำไร่ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจะสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้นำไปสั่งซื้อแม่ปุ๋ยจากบริษัทเอกชน เพื่อมาผสมและจำหน่ายให้กับเกษตรกร ซึ่งทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมลงไปให้คำแนะนำเรื่องการใช้ปุ๋ยแก่เกษตรกรทุกพื้นที่
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการสำรวจพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ปุ๋ยตามหลักวิชาการให้เหมาะสมกับสภาพดินของพื้นที่และชนิดพืชที่ผลิต หลายรายใช้ปุ๋ยมากเกินความจำเป็น หรือเลือกใช้ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารไม่เหมาะสมกับสภาพดินและพืช ทำให้ได้ผลผลิตที่ไม่มีคุณภาพและผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่ามาตรฐาน และยังส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นด้วย ดังนั้นจึงต้องเร่งหาแนวทางในการสนับสนุนให้สมาชิกสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร และเกษตรกรทั่วไป ปรับเปลี่ยนแนวคิดและพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยการเลือกใช้ปุ๋ยแบบสั่งตัด เพื่อให้เกษตรกรเลือกใช้ปุ๋ยได้ถูกชนิด ถูกปริมาณ และตรงตามค่าวิเคราะห์ดินและชุดดินในแปลงของตนเอง ทั้งยังเป็นช่องทางที่จะช่วยให้เกษตรกรได้รับปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพและราคาถูก สามารถประหยัดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง
โครงการฯ ดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีสถาบันเกษตรกรแจ้งความจำนงและสนใจที่จะเข้าโครงการฯ แล้วกว่า 202 แห่ง จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ จำนวน 500 แห่ง ในจำนวนนี้มีสถาบันเกษตรกรที่สามารถผลิตหรือผสมปุ๋ยเองเพื่อให้บริการจำหน่ายแก่สมาชิกและเกษตรกรทั่วไปแล้ว ประมาณ 100 แห่ง กำลังการผลิตกว่า 20,000 ตันต่อปี ซึ่งมีทั้งที่เป็นปุ๋ยสูตรทั่วไปและปุ๋ยสั่งตัด ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เร่งขับเคลื่อนและขยายผลโครงการฯ อย่างเต็มที่และมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ต่อเนื่อง อาทิ อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ดินและปุ๋ยแก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจว่าการผสมปุ๋ยใช้เองมีวิธีการอย่างไร ปุ๋ยสูตรไหนจะเหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง และเทคนิคการใช้ปุ๋ยให้เกิดประสิทธิภาพในการปลูกพืชแต่ละชนิดต้องใช้อย่างไร รวมถึงปรับเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมที่นิยมซื้อปุ๋ยสูตรสำเร็จที่ขายตามท้องตลาดซึ่งมีต้นทุนสูง หันมาใช้ปุ๋ยผสมเองที่มีคุณภาพไม่แตกต่างจากปุ๋ยสูตรสำเร็จ
นอกจากนี้ยังมีการเก็บตัวอย่างดินเพื่อส่งตรวจหาธาตุอาหารในดิน การอบรมวิธีการใช้ชุดวิเคราะห์ดินอย่างง่าย (Test Kit) และการส่งโมบายยูนิต (Mobile unit) ลงพื้นที่เพื่อวางแผนการผลิตพืช และสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร สำหรับนำไปผลิตปุ๋ยสั่งตัดเพื่อมาให้บริการแก่เกษตรกร ซึ่งการใช้กลไกสถาบันเกษตรกรเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว นับว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก เนื่องจากต้องการผลักดันให้สหกรณ์ได้มีการปรับตัว ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตปุ๋ย ตลอดจนให้บริการผสมปุ๋ยสั่งตัดแก่สมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรทั่วไป ซึ่งจะช่วยขยายธุรกิจของสหกรณ์ให้ช่วยตอบสนองกับความต้องการของเกษตรกรได้อย่างครบถ้วนและส่งผลต่อการสร้างความเข้มแข็ง และมั่นคงให้กับสถาบันเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน
โครงการจัดหาปุ๋ยสั่งตัดมุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และพืชแต่ละชนิด เน้นให้เกษตรกรหันมาใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือชุดดิน และตรงตามความต้องการของพืช สามารถช่วยแต่งเติมการใช้ปุ๋ยได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งยังได้ปุ๋ยสูตรที่มีอาหารพืชเหมาะสมตามค่าวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งหากเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปุ๋ยผสมใช้เอง และมีความมั่นใจว่าการใช้ปุ๋ยผสมเองไม่ได้แตกต่างจากปุ๋ยสำเร็จ แต่ราคาถูกกว่า ช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้เกษตรกรมีรายได้เหลือจากการจำหน่ายผลผลิตเพิ่มมากขึ้น คาดว่า ปุ๋ยสั่งตัดจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ กระสอบละ 100-300 บาท หรือตันละ 3,000-4,000 บาท หรือไม่น้อยกว่า 500 บาท/ไร่ และยังทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณผลผลิตต่อไร่เพิ่มมากขึ้นด้วย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *