xs
xsm
sm
md
lg

เลิกสอนเด็กท่องจำ!มข.ติวเข้มเทคนิคสอนแนวใหม่Open Approach

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น-สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูอาเซียน ติวเข้มครูผู้สอนในขอนแก่นเรียนรู้นวัตกรรมการสอนแบบใหม่ Lesson Study และ Open Approach ยกระดับคุณภาพการศึกษาเด็กไทยสลัดทิ้งการสอนแบบเดิมที่เน้นให้เด็กท่องจำ


วันนี้ (4ม.ค.63) ที่อาคารอเนกประสงค์ ชั้น 3 รร.สาธิตมอดินแดง มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มข. เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับครู ด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยมีรศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาม.ขอนแก่น รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสําหรับอาเซียน พร้อมด้วยผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรครู เข้าร่วมอบรมกว่า 300 คน

ศ.ดร.มนต์ชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.ขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับหนึ่งของประเทศไทย ในฐานะมหาวิทยาลัยสร้างผลกระทบต่อมวลมนุษยศาสตร์สูงเป็นอันดับหนึ่งตามพันธะ Sustainable Development Goals ของสหประชาชาติ โดยได้คะแนนสูงสุดด้านการส่งเสริมการจัดการการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เท่าเทียมและตลอดชีพ ส่งเสริมความมีสุขภาพดีแก่ประชาชนทุกช่วงวัย ลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ทั้งในและต่างประเทศ และผสานการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั่วโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

การจัดกิจกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง วันนี้ เป็นกิจกรรมที่สำคัญของสถาบันฯ ที่จะส่งเสริมให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการจัดการการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และส่งเสริมให้เกิดการผสานการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามพันธะ SDGs อย่างแท้จริง

กิจกรรมที่จัดวันนี้ จะช่วยให้คุณครูทุกท่านมีความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน และวิธีการแบบเปิด ซึ่งเป็นนวัตกรรมหลักของสถาบันฯ ได้ร่วมสังเกตชั้นเรียนที่ใช้นวัตกรรม ได้เห็นว่าชั้นเรียนที่เน้นให้นักเรียนเกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 และสามารถช่วยยกระดับคุณภาพของนักเรียนอย่างต่อเนื่องเป็นอย่างไร และเพื่อให้ได้ชั้นเรียนแบบนั้น คุณครูต้องใช้นวัตกรรมอย่างไร

รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาม.ขอนแก่น รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสําหรับอาเซียน
ขณะที่รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาม.ขอนแก่น รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสําหรับอาเซียน กล่าวว่า นวัตกรรมการศึกษา ที่นำเอาวิธีการแบบเปิด (Open Approach) คือครูต้องเปลี่ยนวิธีสอน ไม่ใช่มุ่งป้อนความรู้ให้นักเรียนแบบเดิม ที่วัดความรู้คือใครจำได้มากก็เป็นคนเก่ง แต่นวัตกรรมการสอนใหม่ ครูมีหน้าที่นำสถานการณ์ปัญหาที่ต้องใช้ในชีวิตจริง นำมาให้นักเรียนแก้ปัญหา จะเน้นหนักที่ครูต้องเตรียมเรื่องราวมาให้นักเรียนแก้ปัญหาด้วยตนเองในชั้นเรียน ซึ่งเป็นวิธีการสอนแบบใหม่

ครูต้องทำหน้าต้องเตรียมเรื่องราวที่มีความหมายต่อนักเรียน ซึ่งจะไม่เหมือนกันในแต่ละภูมิภาค เป็นเรื่องราวที่เหมาะกับชีวิตจริงของนักเรียน ให้นักเรียนแก้ปัญหาด้วยตนเองในชั้นเรียนไม่ใช่ไปเอามาจากหนังสือมาป้อนให้นักเรียนอย่างเดียว โดยบทบาทของครูต้องเฝ้าดูว่านักเรียนมีประสบการณ์ในชีวิตจริงอย่างไร จะเตรียมสถานการณ์อย่างไร ต้องปรับทุกวัน ถือเป็นวิธีการสอนแบบใหม่ที่ทั่วโลกต้องการ

สำหรับสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2545 เมื่อกลุ่มนักวิจัยด้านคณิตศาสตร์ศึกษาได้เริ่มดำเนินงานวิจัยด้านคณิตศาสตรศึกษา และได้เริ่มต้นพัฒนานวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน และวิธีการแบบเปิด ภายใต้ความร่วมมือระดับ นานาชาติกับมหาวิทยาลัยทสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาในปี 2546 ได้ขยายผลงานวิจัยเพื่อรับการสนับสนุนจากคณะทำงานเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเอเปค

ส่วนการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 1 มีจุดประสงค์เพื่อสร้างพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับนวัตกรรม การศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิด รวมทั้งแนวทางการดำเนินการของโครงการ โดยผู้เข้าอบรม เป็นผู้บริหารโรงเรียน หัวหน้าวิชาการ และศึกษานิเทศก์ 180 คน จากโรงเรียนในโครงการ 180 โรงเรียน และ 60 โรงเรียนในปี 2562 ซึ่งอยู่ในจังหวัดต่างๆ 18 จังหวัดทุกภาคของประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก ขอนแก่น นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย อำนาจเจริญ อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และปัตตานี




ด้านนายไวยากรณ์ ยะนะโชติ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบึงเนียมบึงใคร่นุ่นท่าหิน สังกัด สพป.ขอนแก่น เขต 1 หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมการอบรมครั้งนี้ กล่าวว่าการขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผ่านมาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำด้านความรู้ระหว่างนักเรียนในเมืองกับนักเรียนในชนบท ที่ต่างกันเกือบ 2 ปี สาเหตุหนึ่งมาจากคุณภาพหรือมาตรฐานของสถานศึกษา รวมถึงคุณภาพและประสิทธิภาพครู ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนโดยตรง

ทางสพฐ. และ กสศ. จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Teachers & School Quality Program : TSQP) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโรงเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษาขนาดกลางสังกัด สพฐ. ในชนบทที่มีเด็กและเยาวชนขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสอยู่หนาแน่น ให้เป็นโรงเรียนที่สามารถพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ เพื่อให้นักเรียนมีทักษะการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 มีผลสัมฤทธิ์การเรียนสูงขึ้น


ขณะที่นักเรียนยากจนด้อยโอกาสได้รับการดูแลอย่างเต็มศักยภาพ โดยครูจะมีความสามารถประเมินและช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล ที่ผ่านมาทางโรงเรียนฯ ได้เข้าร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสําหรับอาเซียน มาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน เป็นผลให้ทางโรงเรียนบ้านบึงเนียมบึงใคร่นุ่นท่าหิน สังกัด สพป.ขอนแก่น เขต 1 นักเรียนสามารถสอบ o-net วิชาคณิตศาสตร์ได้เต็ม 100 % จำนวน 1 คนในปีการศึกษาที่ผ่านมา นับเป็นผลสำเร็จอย่างหนึ่งในการเข้าร่วมกับทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นและผลสัมฤทธิ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น