สภาฯ ถกยาว 4 ชม.ผ่านมาตราเดียว ปชป.แนะศธ.ผ่าตัดใหญ่โครงสร้างสามหน่วยงาน แก้การศึกษาล้มเหลว แนะปรับบทบาท สพฐ.มุ่งสู่ชั้นเรียนมากขึ้น เสนอจัดงบฯ ขับเคลื่อนโครงการ English For All เพิ่มงบฯ สถาบันผลิตเกษตรกรพันธุ์ใหม่รับความเปลี่ยนแปลง
วันนี้ (10 ม.ค.) เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายศุภชัย โพสุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 วาระ 2-3 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ต่อเป็นวันที่ 3 โดยเข้าสู่การพิจารณามาตรา 24 งบรายจ่ายกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 132,834,254,500 บาท โดยสมาชิกใช้เวลาอภิปราย 4 ชั่วโมงกว่า โดยส่วนใหญ่ที่เห็นว่าการใช้งบไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและไม่ตรงเป้าที่วางไว้ ทั้งๆ ที่กระทรวงศึกษามีภาระหน้าที่ในการบริหารจัดการการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชน ให้มีคุณภาพและมีความเท่าเทียมกัน จึงอยากให้มีการบูรณาการให้การศึกษามีประสิทธิภาพ
นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายถึงปัญหาระบบการศึกษาระหว่างการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วาระ 2 และวาระ 3 มาตรา 24 กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานในกำกับว่า ปัญหาที่พบในงบประมาณปี 63 คือ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ทำหน้าที่บริหารงานบุคคล ดูแลเรื่องตำแหน่ง อัตรา การบรรจุ ไปจนถึงการแต่งตั้งโยกย้าย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ดูแลระบบสวัสดิการและสวัสดิภาพของครู และคุรุสภา รับผิดชอบระบบวิชาการ มาตรฐานวิชาชีพ ไปจนถึงประกาศนียบัตรวิชาชีพครู ซึ่งทั้งสามหน่วยงานมีสามระบบต่างคนต่างทำงาน ขาดการบูรณาการเพื่อตอบเป้าหมายคุณภาพการศึกษา เพราะแต่ละหน่วยงานเน้นงานที่ไม่ใช่หน้าที่หลักของตน ทำให้ ก.ค.ศ.ไม่สามารถจัดครูลงโรงเรียนได้ตามเกณฑ์ สกสค.ไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตครูได้ และคุรุสภาไม่สามารถสร้างมาตรฐานครูได้ ในขณะที่งบประมาณปี 63 ไม่มีแผนงานใดที่จะแก้ปัญหาหลักเหล่านี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น สกสค.มีงานหลักในการให้บริการเบิกจ่ายตามสิทธิของสวัสดิการให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา 1.8 ล้านคน แต่กลับไม่ได้ทำอะไรเลย ทั้งที่ตั้งงบประมาณไว้กว่า 21 ล้านบาท มีเงินนอกงบประมาณอีกไม่ต่ำกว่า 101 ล้านบาท แต่ทำงานแบบไร้เป้าหมาย
นายกนกยังตั้งคำถามถึงคุรุสภาด้วยว่า ได้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียนจากการจัดการเรียนการสอนของครูหรือไม่ คุรุสภา และ สพฐ.เคยพิจารณาปัญหาเรื่องคุณภาพนักเรียนต่ำร่วมกันหรือไม่ และมีมาตรการแก้ไขอย่างไร โดยในงบประมาณปี 63 คุรุสภาได้งบประมาณ 205 ล้านบาท มีเงินนอกงบประมาณอีกกว่า 148 ล้านบาท แต่กลับไร้กระบวนการที่จะไปให้ถึงเป้าหมายในการทำให้ครูสอนนักเรียนตามมาตรฐานวิชาชีพครู ทั้งนี้ เห็นว่าระบบ ก.ค.ศ., สกสค. และคุรุสภา ล้มเหลว ไม่สามารถทำให้เกิดคุณภาพการเรียนการสอนและคุณภาพนักเรียนได้ ขณะที่สพฐ. ไม่สามารถกำกับการสอนของครูในชั้นเรียนให้เกิดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้ ระบบแผนงานของกระทรวงศึกษาธิการขาดความเข้าใจ และใส่ใจในการวัดผลสัมฤทธิ์ที่เกิดกับนักเรียน แต่กลับเน้น KPI ระดับปฏิบัติการตามกิจกรรมที่ปฏิบัติเท่านั้น จึงเสนอให้ปรับภารกิจของสพฐ.ให้ตรงสู่การเรียนการสอนในชั้นเรียน ประเมินและทบทวนบทบาทภารกิจและโครงสร้าง ก.ค.ส., สกสค. และคุรุสภา เพื่อจัดระบบและความสัมพันธ์ใหม่ให้ทันต่อบริบทของสังคงและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ยังได้เสนอแนะให้กระทรวงศึกษาธิการปรับงบประมาณภายในเพื่อนำไปสร้างการบูรณาการในการปฏิบัติงานของทั้งสามองค์กรเพื่อให้ตอบโจทย์การ “ยกระดับคุณภาพ” ของนักเรียน และในงบประมาณปี 64 ต้องจัดงบประมาณแผนงานเพื่อการปรับบทบาทของสามองค์กรหลักนี้เพื่อยกระดับคุณภาพครู โรงเรียนและนักเรียน โดยมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนด้วย ซึ่งจะสามารถทำสำเร็จได้หากทำตาม 3 ต้อง คือ ต้องทำเป็น ต้องมีเครื่องมือ และต้องมีใจ
นายกรณ์ จาติกวณิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายขอตัดงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้วงเงิน 133,743 ล้านบาท ปรับลดลงร้อยละ 5 โดยกล่าวว่า การศึกษาเป็นเรื่องที่สมาชิกทุกพรรคการเมืองให้ความสำคัญ และนับเป็นเรื่องดีที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดกว้างรับฟังความเห็นจากทุกพรรค โดยเรื่องสำคัญที่สุดในยุคปัจจุบัน คือ การเพิ่มทักษะให้เด็กไทยสามารถปรับตัวให้ทันกับโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะการเพิ่มทักษะด้านภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาจีน ทั้งนี้ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ได้มีการริเริ่มโครงการEnglish For All โดยได้ทดลองในหลายโรงเรียนทั่วประเทศ แม้ในปี 2563 จะยังไม่มีการกำหนดงบประมาณรองรับโครงการนี้อย่างชัดเจน แต่คาดว่าอาจจะมีการนำงบกลางส่วนหนึ่งที่จะนำมาขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว เนื่องจากโครงการได้รับการยอมรับและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในพื้นที่ทดลอง โดยเป้าหมายหลักของโครงการ English For All คือ การเปลี่ยนวิธีสอนภาษาอังกฤษให้เด็กไทยสามารถสื่อสารได้เป็นหลัก ซึ่งครูผู้สอนส่วนหนึ่งจะเป็นครูไทยที่มีความรู้ ความสามารถพูดภาษาอังกฤษได้จริง และอาจมีครูจากต่างประเทศโดยเด็กต้องเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ยังเล็ก หรือตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลมีเวลาเรียนที่เพียงพอ
รวมทั้งต้องเปลี่ยนวิธีการสอบให้มุ่งเน้นด้านการสนทนาภาษาอังกฤษเป็นหลักส่วนงบประมาณหากมีการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวก็ใช้น้อยมาก โดยหากเริ่มระดับอำเภอๆ ละ 1 โรงเรียน แต่ละโรงเรียนต้องมีคุณครูพูดภาษาอังกฤษได้อย่างน้อย 2 คน เงินเดือนคนละ 30,000 บาท ต่อเดือน งบประมาณทั้งปีที่ใช้น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท และหากมีการขยายผลต่อทำในทุกตำบล จะใช้งบประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น แต่ผลตอบแทนที่จะได้คือ การที่เด็กไทยพูดภาษาอังกฤษได้ทุกคน มั่นใจว่า ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มโอกาสด้านต่างๆ เกิดความคุ้มค่าอย่างแน่นอน จึงขอให้มีการจัดสรรงบประมาณบริหารจัดการ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั่วประเทศมากขึ้น เพื่อยกระดับมาตรฐานให้เป็นสถาบันที่สามารถผลิตเกษตรกรพันธุ์ใหม่ หรือ Smartfarmer ตามนโยบายรัฐบาลที่มีอยู่แล้ว รองรับความเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตรในอนาคต
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 250 ต่อ 68 งดออกเสียง 140 เสียง และเข้าสู่การพิจารณามาตรา 25 งบรายจ่ายของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 26,730,737,500 บาท