สสวท.สรุปผลการตรวจสอบคุณสมบัติกระดาษพิมพ์หนังสือเรียน ไม่ขัดกับคุณสมบัติที่ สพฐ.กำหนด ไม่กระทบคุณภาพหนังสือเรียน
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่าตามที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขอให้ สสวท. ตรวจสอบคุณสมบัติของกระดาษที่ใช้ในการจัดพิมพ์เนื้อในหนังสือเรียนของสำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าถูกต้องตามคุณสมบัติของกระดาษที่ สสวท. กำหนดหรือไม่นั้น
“สสวท.ได้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้วและแจ้ง สพฐ. แล้วว่า คุณภาพของกระดาษที่ใช้ในการพิมพ์เป็นไปตามข้อกำหนดของ สพฐ. คือ เป็นกระดาษเยื่อเคมี เคลือบผิวด้าน น้ำหนักพื้นฐาน 70 แกรม ซึ่งสามารถใช้ดินสอเขียนได้ และผลิตจากโรงงานที่มีมาตรฐานจากต่างประเทศ”
ศาสตราจารย์ชูกิจ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา สสวท. และผู้รับอนุญาตผลิตและจำหน่ายสื่อของ สสวท. ทั้ง 2 รายคือ องค์การค้าของ สกสค. และ สำนักพิมพ์จุฬาฯ ได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินงานและกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจนตามมติคณะกรรมการ สสวท.
“ผู้รับอนุญาตฯ ต้องดำเนินการผลิตสื่อของ สสวท. ตามต้นฉบับที่ สสวท. มอบให้ ตั้งแต่เตรียมการผลิต พิสูจน์อักษร การจัดพิมพ์ ตรวจสอบคุณภาพ ทำเล่มและบรรจุหีบห่อ และจะต้องผลิตตามจำนวนที่ได้รับอนุญาต โดยแสดงจำนวนผลิตที่ตรวจสอบได้”
ในกรณีที่จำเป็นต้องปรับปรุงสื่อของ สสวท. ให้เหมาะสมต่อการผลิต ผู้รับอนุญาตฯ จะต้องส่งต้นฉบับสื่อที่ปรับปรุงให้ สสวท. ตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการและคุณภาพก่อนการผลิตและจำหน่ายในการผลิตแต่ละครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้หนังสือที่ใช้ชื่อ สสวท. มีคุณภาพ เพื่อการจำหน่ายกับทั้งบุคลทั่วไป โรงเรียนในสังกัด สพฐ. และ โรงเรียนอื่นๆ
“อย่างไรก็ตามในการที่ สกสค. และ สำนักพิมพ์จุฬาฯ จะจำหน่ายหนังสือให้กับโรงเรียนสังกัด สพฐ. นั้น ต้องขออนุญาตจาก สพฐ ซึ่ง สพฐ.จะมีการให้ประกาศอนุญาตพร้อมกำหนดชนิดของกระดาษที่ใช้และราคา โดยข้อกำหนดของ สพฐ. ไม่ได้ระบุรายละเอียดของค่าความมันวาวของกระดาษ หรือค่าความทึบแสงแต่อย่างใด”
ส่วนเรื่องการที่สำนักพิมพ์จุฬาฯ ขอปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของกระดาษ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่ป้องกันการผูกขาดผู้จำหน่ายกระดาษ ซึ่ง สสวท.ได้พิจารณาแล้วว่า การปรับเปลี่ยนคุณสมบัติด้านความมันวาวและความทึบแสงตามที่ สำนักพิมพ์จุฬาฯ ปรับนั้นมิได้กระทบต่อความถูกต้องทางวิชาการและคุณภาพหนังสือเรียนแต่อย่างใด และไม่ขัดกับข้อกำหนดของ สพฐ. จึงส่งรายละเอียดแจ้ง สพฐ. ตามที่สำนักพิมพ์จุฬาฯ แจ้งมา
ศาสตราจารย์ชูกิจ กล่าวว่า สำหรับการจัดพิมพ์หนังสือเรียนสำหรับภาคการศึกษาที่ 1/2563 สพฐ. สสวท. องค์การค้าของ สกสค. และสำนักพิมพ์จุฬาฯ ได้กำหนดแผนการดำเนินงานผลิตหนังสือเรียนร่วมกันในแต่ละขั้นตอน มีการประชุมร่วมกันและเร่งดำเนินการตามกรอบเวลาอย่างเคร่งครัด ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการ สกสค. เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา สสวท. ยังได้รายงานผลการดำเนินการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรับทราบด้วย ซึ่งก็ได้รับการกำชับให้ดำเนินการโดยเคร่งครัด เพื่อให้สามารถผลิตหนังสือเรียนที่มีคุณภาพส่งถึงโรงเรียนทันเวลาก่อนเปิดภาคเรียนทั่วประเทศ
“หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายใหม่ สสวท. จำเป็นต้องขออนุมัติคณะกรรมการ สสวท. ที่มีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของ สสวท. ใหม่ด้วย” ศาสตราจารย์ชูกิจกล่าว