xs
xsm
sm
md
lg

จับตาตั้ง “ก.อุดมฯ” ส่อล้ม พ.ร.บ.5 ตระกูล ส. “วิจัย” หรือไม่ หวั่นเป็นราชการ ไม่อิสระเหมือนเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จับตาจ่อตั้งกระทรวงใหม่ “ก.อุดมศึกษาและวิจัย” ล้ม พ.ร.บ. 5 ตระกูล ส. ด้าน “วิจัย” หรือไม่ หวั่นกลายเป็นหน่วยงานราชการ ไม่อิสระเหมือนเดิม ด้าน รักษาการ ผอ.สวรส.เชื่อยังเป็นองค์กร พ.ร.บ. เฉพาะเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนหน่วยงานกำกับไปอยู่ภายใต้กระทรวงใหม่

ความคืบหน้ากรณีการแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นกระทรวงการอุดมศึกษา โดยจะมีการควบรวมหน่วยงานเกี่ยวกับการวิจัยทั้งหมดของประเทศ คือ “1 ว + 5 ส” เข้ามาอยู่ภายใต้กระทรวงใหม่ด้วย ทำให้อาจต้องมีการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ. การอุดมศึกษา พ.ศ. ... ใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ขับเคลื่อนแค่เพียงการแยก สกอ. เท่านั้น

วันนี้ (22 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หน่วยงานด้านวิจัยที่จะนำมารวมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แล้วตั้งเป็นกระทรวงใหม่ คือ กระทรวงการอุดมศึกษาและวิจัยนั้น หน่วยงานเหล่านี้จัดเป็นองค์กรของรัฐที่มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เฉพาะ เป็นกลไกการบริหารจัดการสาธารณะใหม่ เพื่อให้มีความคล่องตัวจากระบบราชการในการขับเคลื่อนงานต่างๆ ซึ่งการจะนำ 1 ว + 5 ส มารวมเป็นกระทรวงใหม่นั้น ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร จะยังคงเป็นองค์กรที่มี พ.ร.บ. เฉพาะเหมือนเดิม แต่แก้ไขให้มาอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงใหม่หรือไม่ หรือจะต้องยุบองค์กรหรือ พ.ร.บ. ทิ้ง เพื่อนำองค์กรเหล่านี้เข้าไปเป็นลักษณะของหน่วยงานหนึ่ง เช่น เป็นกรมกรมหนึ่งๆ ภายในกระทรวงใหม่ ซึ่งบางส่วนให้เกิดข้อกังวลว่า การบริหารงานจะไม่เป็นอิสระเหมือนเดิม เพราะกลายเป็นหน่วยงานราชการ ซึ่งผิดจากวัตถุประสงค์เดิมที่จัดตั้งหน่วยงานเหล่านี้ขึ้น เพื่อให้มีความคล้องตัวจากระบบราชการ นอกจากนี้ หน่วยงานเหล่านี้ต่างก็มีการประกาศยุทธศาสตร์และนโยบายที่ชัดเจนในการจะขับเคลื่อนงานแล้ว หากต้องมารวมกันจะต้องแบ่งหน้าที่และการดำเนินการอย่างไร ซึ่งทั้งหมดต้องมีความชัดเจน และร่าง พ.ร.บ. การอุดมศึกษา พ.ศ. ... จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างไร เพื่อรองรับเรื่องเหล่านี้

นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า เท่าที่ทราบจากข่าว กระทรวงใหม่หรือกระทรวงการอุดมศึกษาและวิจัย ระบบราชการจะต้องมีความคล่องตัว ให้อิสระแก่หน่วยงานภายในสังกัด จึงเข้าใจว่ากระทรวงใหม่ที่จะมาครอบคลุมดูแลหน่วยงานด้านวิจัยต่างๆ รวมทั้ง สวรส.ที่เป็นองค์กรของรัฐที่มี พ.ร.บ.เฉพาะ ก็คงจะยังเป็นองค์กรตาม พ.ร.บ.เหมือนเดิม มีอิสระในการให้ทุนวิจัยต่างๆ ได้เหมือนเดิม อาจจะเปลี่ยนผู้กำกับดูแลใหม่ อย่าง สวรส.อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็อาจต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ตรงนี้อาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ของหน่วยงานวิจัยใหม่ เพื่อให้รองรับและเข้าไปอยู่ในความดูแลของกระทรวงใหม่ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการหารือกันอีกมากในเรื่องนี้ และต้องติดตามรายละเอียดที่ชัดเจนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหน่วยงานวิจัย 1 ว + 5 ส นั้น พบว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดขึ้นตาม พ.ร.บ. สภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2499 อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนองค์กร 5 ส.นั้น คือ 1.สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. 2535 เป็นองค์กรภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี 2. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดขึ้นตาม พ.ร.บ. พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พ.ศ. 2534 เป็นองค์การมหาชนในกำกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) 3. สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ฎ. จัดตั้งสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 4.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ.2535 อยู่ในกำกับของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ 5. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2551

ทั้งนี้ องค์กร 5 ส. ดังกล่าว ในช่วง 3 - 4 ปีที่ผ่านมา มีการรวมตัวกันในกลุ่มที่ประชุมผู้บริหารองค์กรของรัฐที่จัดขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ (ทอพ.) ทั้งหมด 16 องค์กร เพื่อขับเคลื่อนงานใน 4 มิติ คือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การศึกษา กองทุนสนับสนุน และสุขภาพ เพื่อความเข้มแข็งในการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย สกว. สวทช. สวก. สวรส. สวทน. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานส่งเสริมวอสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) สำนังกานเลขาธิการคุรุสภา (คส.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) สถาบันอนุญาโตตุลาการ และสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


กำลังโหลดความคิดเห็น