เสนอเบอร์ 191 เป็นศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินหมายเลขเดียวของไทย ครม. มอบ สตช. เป็นเจ้าภาพดำเนินการ สพฉ. ย้ำ หลักการทำงานต้องไม่เพิ่มขั้นตอนจ่ายงาน ชี้ หน่วยงานฉุกเฉินในพื้นที่ต้องรู้ข้อมูลพร้อมศูนย์รับแจ้ง เชื่อเทคโนโลยีทำได้ ช่วยส่งกู้ภัย ดับเพลิง ตำรวจ รถพยาบาลไปได้พร้อมกัน
นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการปฏิรูประบบสาธารณสุข เรื่องระบบการแพทย์ฉุกเฉินช่วงก่อนถึงโรงพยาบาล โดยมีการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินหมายเลขเดียว ว่า การจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินหมายเลขเดียว (Single Number) ถือเป็นมาตรฐานสากล ซึ่งจะครอบคลุมประเด็นฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตใน 3 เรื่อง คือ 1. ความปลอดภัยในชีวิต ซึ่งปัจจุบันมีสายด่วน 191 2. เรื่องกู้ภัยดับเพลิง มีเบอร์ 199 และ 3. การแพทย์ฉุกเฉินที่มีเบอร์ 1669 โดยเบื้องต้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการเรื่องเบอร์ฉุกเฉินหมายเลขเดียว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องมาร่วมกันคิดและพัฒนาว่าจะทำอย่างไรให้ให้ระบบหมายเลขเดียวนั้นเป็นไปได้และเหมาะสมกับทุกๆ ส่วน ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น
นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า หลักการทำงานของเบอร์ฉุกเฉินหมายเลขเดียว คือ จะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติการฉุกเฉินหรือเป็นการเพิ่มขั้นตอน ดังนั้น เมื่อโทร.เบอร์ฉุกเฉินหมายเลขเดียวแล้ว ซึ่งศูนย์รับแจ้งอาจจะอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แต่จะต้องพัมนาระบบให้หน่วยงานฉุกเฉินภายในพื้นที่ของผู้ที่โทร.เข้ามารับทราบข้อมูลไปพร้อมกันด้วย เมื่อศูนย์หมายเลขเดียวซักถามอะไรหรือบันทึกข้อมูลอะไร ทางหน่วยงานในพื้นที่ต้องรับรู้ข้อมูลด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องเกิดการถามซ้ำ ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถทำได้แล้ว เพราะหากไม่มีระบบเช่นนี้ก็เท่ากับว่าต้องมาจ่ายงานให้พื้นที่อีกครั้ง ก็ทำให้เสียเวลา ประชาชนได้รับการช่วยเหลือล่าช้า
“สมมติว่า เกิดเหตุภาวะฉุกเฉินเพลิงไหม้ภายในเกาะสมุย เมื่อมีคนแจ้งมายังเบอร์ฉุกเฉินหมายเลขเดียว อย่างที่บอกว่าศูนย์รับแจ้งฯ อาจจะอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่พอแจ้งแล้วจะต้องรู้ตำแหน่งว่าอยู่ตรงไหน และทำให้หน่วยงานในจุดนั้นรับทราบข้อมูลไปพร้อมกันด้วย และสามารถจ่ายงานได้ทันทีเลย สถานีดับเพลิงก็สามารถส่งรถดับเพลิงไปได้เลย ตำรวจก็สามารถเดินทางไปได้เลย และหากประเมินว่าอาจมีคนบาดเจ็บ รถพยาบาลหรือรถกู้ชีพฉุกเฉินก็สามารถออกได้ทันที ทั้ง 3 คันก็จะไปในเวลาเดียวกันได้ ไม่เกิดการเสียเวลา” นพ.ไพโรจน์ กล่าว
นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านจากหมายเลขฉุกเฉิน ที่มีหลายเบอร์มาเป็นหมายเลขเดียวนั้น คงไม่ได้ตัดหมายเลขเดิมๆ ทิ้งไปเลย เพราะยังคงมีคนจำหมายเลขเดิมได้ ก็จะยังคงใช้ทั้งหมายเลขเดิมและหมายเลขเดียวควบคู่กันไป ซึ่งหาก โทร.เข้าไปยังหมายเลขเดิมก็จะติดหน่วยงานเดิมในการรับแจ้งเหตุแล้วให้ความช่วยเหลือ ซึ่งจะดำเนินการไปจนกว่าในอนาคตระบบของเบอร์ฉุกเฉินหมายเลขเดียวจะพัฒนาจนดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น จนประชาชนเลือก โทร.เข้ามาเบอร์นี้มากขึ้น จึงค่อยๆ ลดการใช้เบอร์ฉุกเฉินหมายเลขเดิมลงไป
เมื่อถามว่า จะใช้หมายเลขใดเป็นเบอร์ฉุกเฉินหมายเลขเดียว เป็นหมายเลข 112 ที่เคยมีการเสนอกันหรือไม่ นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ในต่างประเทศเบอร์สากลจะมี 2 หมายเลข คือ เบอร์ 911 ซึ่งมีการใช้ประมาณ 16% ทั่วโลก และเบอร์ 112 มีการใช้อยู่ประมาณ 67% ทั่วโลก สำหรับประเทศไทย หลายส่วนมองว่าเบอร์ 191 มีความคุ้นเคยกับคนไทยอย่างมาก ซึ่งขณะนี้มติที่รัฐบาลกำหนดก็ยังเป็นเบอร์ 191 แต่ก็ต้องปรับปรุงระบบ ทำอย่างไรให้ระบบสามารถเปลี่ยนมาเป็นหมายเลขเดียวได้ ซึ่งตรงนี้มองว่าทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือแม้กระทั่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ก็ต้องเข้ามาร่วมกันช่วยพัฒนาระบบด้วย เพราะเบอร์ฉุกเฉินหมายเลขเดียวนี้ ต้องสามารถโทร.ติดได้ทุกแห่ง แม้ไม่มีสัญญาณหรือมีความทั่วถึง ทั้งเกาะ เขา ทะเล ป่า พื้นที่ห่างไกล ต้อง โทร.แจ้งเหตุได้ และสามารถระบุพิกัดผู้ โทร.ได้ นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาให้รองรับผู้เปราะบางทั้งหลาย เช่น ผู้พิการทางการได้ยิน ต้องการการสื่อสารแจ้งเหตุด้วยภาษามือ จะทำได้หรือไม่ หรือคนต่างชาติจะต้องมีศูนย์ล่ามด้วยหรือไม่ ซึ่งเรื่องพวกนี้ก็จะพ่วงเข้ามาอีกด้วยกันทั้งหมด