สธ. เฝ้าระวัง “อีโบลา” เข้ม หลังพบการระบาดที่ “คองโก” แม้ WHO ยังไม่ประกาศเข้าข่ายภาวะฉุกเฉินระหว่างประเทศ เผย มีผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงเข้ามาในไทย แต่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ
วันนี้ (19 พ.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีองค์การอนามัยโลกรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ว่า คณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกประชุมเมื่อวันที่ 18 พ.ค. มีความเห็นว่า สถานการณ์ยังไม่ถึงระดับที่จะประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ สถานการณ์ผู้ติดเชื้ออีโบลาในพื้นที่ดีอาร์คองโก ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.- 17 พ.ค. 2561 มีผู้ติดเชื้อแล้ว 45 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่ยืนยัน 14 ราย และมีผู้ป่วยที่สงสัยและรอผลยืนยันโรครวม 31 ราย อย่างไรก็ตาม หน่วยงานในพื้นที่ที่ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ของโรคแล้ว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาตามระบบที่วางไว้อย่างต่อเนื่องและเข้มข้นทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ 1. ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ 2. โรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน และ 3. ในระดับชุมชน โดยเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดในทุกๆ ช่องทางเข้า - ออก ทั้งที่ด่านสนามบิน ด่านท่าเรือ และด่านชายแดน และติดตามอาการจนครบ 21 วัน ตามมาตรฐานที่กำหนด หากมีไข้จะรับเข้าดูแลในโรงพยาบาลที่จัดเตรียมไว้ทั้งใน กทม. และ ต่างจังหวัด เพื่อให้การรักษาตามมาตรฐานที่กำหนด และจะติดตามอาการผู้สัมผัสทุกคน ปัจจุบันมีผู้เดินทางจากประเทศดีอาร์คองโก มาประเทศไทยประมาณ 30 - 50 คน/เดือน โดยทุกคนได้รับการตรวจคัดกรองตามมาตรฐานที่ด่านควบคุมโรคฯ ของสนามบิน ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้ออีโบลาแต่อย่างใด
“ไวรัสอีโบลาเป็นเชื้อไวรัสที่มีค้างคาวกินผลไม้เป็นพาหะ และเป็นโรคที่ติดต่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านการสัมผัสโดยตรงหรือรับประทานสัตว์ป่าที่ติดเชื้อ หรือสัมผัสสารคัดหลั่ง และการติดต่อจากคนสู่คน โดยการคลุกคลีใกล้ชิด สัมผัสกับเลือด สารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย ปัสสาวะ เป็นต้น อาการสงสัยหลังสัมผัสเชื้อ ได้แก่ มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว ดังนั้น วิธีการป้องกันของโรคติดเชื้ออีโบลา คือ 1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่นำเข้ามาโดยไม่ผ่านการตรวจโรคทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย 2. หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิง หรือค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่าหรือสัตว์แปลกๆ มาประกอบอาหาร” นพ.สุวรรณชัย กล่าว