กรมควบคุมโรค ยัน “วัคซีนพิษสุนัขบ้า” ไม่ขาดแคลน แต่บาง รพ. วัคซีนอาจขาดมือ เหตุคนตระหนกมาฉีดมากขึ้น เผย ยังมีวัคซีนในโรงพยาบาล สธ. อีกกว่า 1.6 แสนโดส แนะใช้วิธีหยิบยืมกัน ย้ำหมูติดเชื้อหมาบ้า ไม่ใช่เรื่องแปลก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถติดได้ทั้งหมด
วันนี้ (7 พ.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีหมูติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ว่า การที่หมูติดเชื้อพิษสุนัขไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถติดเชื้อนี้ได้หมด ส่วนที่กังวลเรื่องการบริโภคนั้น จริงๆ แล้วความเสี่ยงการติดเชือจะมาจากการไปสัมผัสหรือการชำแหละมากกว่า ซึ่งไม่ว่าจะเป็นโรคใด หากพบสัตว์ป่วยตาย ไม่ว่าจะเป็นหมู เป็ด ไก่ ก็ไม่ควรนำมาชำแหละแบ่งแยกเอาไปขายหรือรับประทาน
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ส่วนข้อกังวลเรื่องวัคซีนพิษสุนัขบ้าขาดแคลนนั้น ยืนยันว่า ไม่ใช่การขาดแคลน แต่เป็นการขาดมือของโรงพยาบาล ซึ่งจากข้อมูลขณะนี้ พบว่า มีวัคซีนพิษสุนัขบ้าในโรงพยาบาลสังกัด สธ. อยู่ถึง 1.6 แสนโดส ส่วนที่ว่าทำไมถึงเกิดการขาดมือ เป็นเพราะโรงพยาบาลแต่ละแห่งทำการจัดซื้อวัคซีนเองจากงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) แต่จัดซื้อในจำนวนเท่าเดิมในแต่ละปี แต่ช่วงที่ผ่านมาเกิดการระบาดในสุนัขและแมว คนก็กังวลและมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น ซึ่งในส่วนของผู้ที่ถูกกัด ข่วน หรือถูกน้ำลายของสัตว์แล้วมารับวัคซีนนั้นไม่มีปัญหา แต่มีในเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อ ซึ่งจริงๆ กำหนดให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ที่ต้องสัมผัสสัตว์บ่อยๆ ผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมโรคระบาดในสัตว์ในช่วงนี้ เป็นต้น
“จากการประชุมการเฝ้าระวังโรคและควบคุมโรค โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัด สธ. เป็นประธาน ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสั่งการและติดตาม ว่า โรงพยาบาลแต่ละแห่งของจังหวัดตนเองมีวัคซีนจำนวนเท่าไร และอยู่ในพื้นที่ระบาดหรือไม่ หากไม่อยู่ในพื้นที่ระบาดสัตว์ และมีวัคซีนเพียงพอก็ให้ รพ. ที่มีไม่พอมาหยิบยืมไปก่อน ซึ่งเรื่องนี้อยู่ที่การบริหารจัดการ” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
เมื่อถามถึงข้อเสนอขององค์การอนามัยโลกให้ปรับลดการฉีดวัคซีนลงจาก 28 วัน เหลือ 7 วัน หรือตัดเข็มสุดท้ายออก นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า เรื่องนี้คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และมีคณะกรรมการวิชาการกำลังพิจารณาอีกครั้งเพื่อความมั่นใจ ซึ่งเบื้องต้น คร. ได้ออกแนวทางเวชปฏิบัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนล่วงหน้าส่งให้แก่ผู้ตรวจราชการกระทรวงทั้ง 12 เขตพื้นที่ เพื่อสื่อสารไปยังโรงพยาบาลทั้งหมด คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนล่วงหน้าก่อนสัมผัสโรคนั้น เน้นให้เฉพาะประชากรกลุ่มเสี่ยง ส่วนการลดจำนวนการฉีดวัคซีนขอแนะนำให้พิจารณาตามพื้นที่ เพราะหากพื้นที่ไม่มีการระบาดในสัตว์ก็อาจปรับลดตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกได้ แต่หากมีการระบาดก็ขอให้ฉีดให้ครบตามจำนวน