ศิริราชเปิดตัวรถพยาบาลเคลื่อนที่รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน คันแรกของภาครัฐ มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท ช่วยผู้ป่วยหลอดเลือดสมองเข้าถึงการรักษาเร็วขึ้น สามารถให้ยา ใส่สายสวนเพื่อละลายลิ่มเลือดได้ทันที นำร่องพื้นที่ฝั่งธนบุรี
วันนี้ (18 พ.ค.) ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ (SiMR) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว “เปิดตัวโครงการนำร่องต้นแบบรถพยาบาลเคลื่อนที่ รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน รพ.ศิริราช” ว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตและพิการเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศไทย คือ มีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 5 และพิการถึงร้อยละ 70 เนื่องจากสมองทนต่อการขาดออกซิเจนที่ไปเลี้ยงสมองในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น หากวินิจฉัยได้ตั้งแต่เริ่มต้นและแก้ไขปัญหาหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตกได้ในเวลารวดเร็วหรือภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง โอกาสเสียชีวิตหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนและพิการก็จะน้อยลง ซึ่งระยะเวลาสำคัญของโรคหลอดเลือดสมองมีอยู่ 2 ส่วนคือ เมื่อเกิดเหตุแล้วมาให้ถึงโรงพยาบาลโดยเร็ว และเมื่อมาถึง รพ.แล้วได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันมีการพัฒนาระบบการรักษาในโรงพยาบาลอย่างดี จึงต้องพัฒนาระบบในเรื่องของการมาถึงโรงพยาบาลให้เร็วขึ้นด้วยหรือพัฒนาระบบในเชิงรุกมากขึ้น
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ศิริราชจึงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์เอราวัณ กทม. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ในการพัฒนาโครงการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งจะมีรถพยาบาลเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) ในการเพิ่มโอกาสของการเข้าถึงการรักษาในระยะฉุกเฉินให้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน
รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช กล่าวว่า สำหรับรถพยาบาลเคลื่อนที่ดังกล่าวมีราคากว่า 20 ล้านบาท ถือเป็นรถพยาบาลเคลื่อนที่ในการดูแลรักษาโรคหลอดเลือดสมองคันแรกของภาครัฐ โดยจะเป็นรถ 6 ล้อ นำมาดัดแปลง แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ส่วนด้านหลังของรถ จะเป็นพื้นที่การทำงาน โดยจะมีบุคลากรออกไปพร้อมรถ 4 คนคือ แพทย์ พยาบาล นักรังสีเทคนิค และคนขับรถ โดยส่วนหลังนี้จะบรรจุเครื่องซีทีสแกน เครื่องช็อกหัวใจ เครื่องช่วยกู้ชีพ ยา ท่อหายใจ เปลนำผู้ป่วยขึ้นลง ซึ่งเป็นระบบไฮโดรลิก เป็นต้น 2. ส่วนกลาง เป็นพื้นที่ทำงานระบบไอที คอมพิวเตอร์ การสื่อสารทางไกล มีกล้องสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วยในรถ และ 3. ด้านหน้ารถ จะเป็นระบบจีพีเอส ส่วนของการขับรถ และการควบคุมการเคลื่อนไหว การเปิดสัญญาณในรถ
รศ.นพ.ยงชัย กล่าวว่า การดำเนินการของโครงการดังกล่าวจะนำร่องครอบคลุมพื้นที่เป็นสี่เหลี่ยมคือ ด้านเหนือถึงถนนเลียบคลองมหาสวัสดิ์ ทิศตะวันตกสุดที่พุทธมณฑลสายสี่ ทิศใต้คือถนนเพชรเกษม และทิศตะวันออกบริเวณถนนราชพฤกษ์ ทั้งนี้ เมื่อพบผู้ป่วยที่เข้าข่ายโรคหลอดเลือดสมอง คือมี 3 อาการดังนี้ 1. หน้าเบี้ยว ปากตกไม่เท่ากัน 2. อ่อนแรงครึ่งซีก และ 3. การพูดผิดปกติ ไม่ชัด ติดขัด หรือไม่เข้าใจ ให้โทรศัพท์มายังสายด้วนฉุกเฉิน 1669 หรือศูนย์เอราวัณ เพื่อประเมินว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองจริงหรือไม่ และจะสั่งการให้มูลนิธิกู้ชีพไปรับผู้ป่วยถึงที่เกิดเหตุ ซึ่งเมื่ออยู่บนรถกู้ชีดฉุกเฉินแล้วก็จะมีการประเมินว่าใช่โรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ หาไม่ใช่ก็จะส่งไปยังโรงพยาบาลตามระบบ หรือแม้จะใช่โรคหลอดเลือดสมอง แต่หากอยู่ใกล้โรงพยาบาลอื่นหรือทางญาติผู้ป่วยต้องการไปรักษาที่โรงพยาบาลเดิม หรือโรงพยาบาลตามระบบรถกู้ชีพดังกล่าวก็จะไปส่ง แต่หากต้องการเข้าโครงการนำร่องดังกล่าวก็จะมีการประสานมายังหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ ส่งรถพยาบาลเคลื่อนที่ออกไปรับในจุดรัดพบ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากทาง ปตท. ให้ใช้ปั๊มน้ำมันของ ปตท. เป็นจัดนัดพบระหว่างรถกู้ชีพและรถพยาบาลเคลื่อนที่
รศ.นพ.ยงชัย กล่าวว่า เมื่อมาพบกันแล้วก็จะนำผู้ป่วยขึ้นรถพยาบาลเคลื่อนที่เพื่อมารักษายัง รพ.ศิริราช แต่ระหว่างที่อยู่ภายในรถ จะมีการประเมินผู้ป่วย โดยทำการสแกนสมองผู้ป่วยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองแบบใด ซึ่งจะมีการส่งข้อมูลมายัง รพ.ศิริราช เพื่อร่วมวินิจฉัย หากเป็นการตีบก็สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือใส่สายสวนได้เลย ทำให้สามารเข้าถึงการรักษาได้ไว เป็นการร่นระยะเวลาในการรักษาลงมา แต่หากเป็นการแตกก็จะรีบนำตัวส่ง รพ.ศิริราช แต่หากผู้ป่วยเกิดไม่รู้สึกตัว หายใจไม่ดี รถก็จะเป็นเสมือนหนึ่งรถฉุกเฉินที่สามารถช่วยกู้ชีพได้ ในการใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นต้น ซึ่งการนำร่องจใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เพื่อเก็บข้อมูลเวลานำส่ง การเคลื่อนที่ของรถ เพื่อนำมาปรับแก้ไข ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แล้วมาประเมินว่าเป็นอย่างไร ซึ่งผู้ป่วยที่ร่วมโครงการนี้จะไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากสิทธิรักษาปกติ และหากได้ผลดีก็อาจมีการขยายโครงการไปสู่พื้นที่อื่นๆ หรือเป็นต้นแบบให้แก่พื้นที่อื่นๆ ในการดำเนินการ