xs
xsm
sm
md
lg

ศิริราชโชว์ความสำเร็จปลูกถ่าย 3 อวัยวะ “หัวใจ-ตับ-ไต” พร้อมกันรายแรกในเอเชีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศิริราชโชว์ความสำเร็จผ่าตัดปลูกถ่าย 3 อวัยวะ “หัวใจ - ตับ - ไต” ในผู้ป่วยรายเดียว สำเร็จเป็นครั้งแรกในเอเชีย เป็นรายที่ 15 ของโลก เผยผู้ป่วยเจอปัญหาไตวาย ตามด้วยหัวใจและตับล้มเหลว ต้องเปลี่ยนอวัยวะ ระบุเหมือนฟ้าประทานมาให้เจออวัยวะที่เข้ากันได้

วันนี้ (2 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว “ศิริราชปลูกถ่าย 3 อวัยวะ หัวใจ ตับ ไต สำเร็จในผู้ป่วยรายเดียว ครั้งแรกในเอเชีย” ว่า ศิริราชทำการปลูกถ่ายอวัยวะมาตั้งแต่ปี 2516 เริ่มจากไต หัวใจ ปอด ตับ ตับอ่อน ไขกระดูก และกระจกตา ส่วนการปลูกถ่าย 2 อวัยวะในผู้ป่วยรายเดียวเริ่มตั้งแต่ปี 2548 คือ ตับร่วมกับไต ทั้งนี้ การปลูกถ่ายอวัยวะมีความยากตรงที่อวัยวะของผู้บริจาคต้องเข้าได้กับผู้ป่วย ดังนั้น ยิ่งปลูกถ่ายหลายอวัยวะพร้อมกัน การจะหาอวัยวะที่เข้ากันได้ก็ยิ่งยากขึ้น จะเห็นได้จากอัตราการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งหากเป็นอวัยวะเดียวศิริราชทำมาแล้ว 1,692 ราย ส่วนปลูกถ่าย 2 อวัยวะมีเพียง 25 รายเท่านั้น

“การปลูกถ่าย 3 อวัยวะในผู้ป่วยรายเดียวที่ประสบความสำเร็จในครั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า เพราะมาจากฟ้าประทาน ให้มีอวัยวะที่เข้ากันได้ถึง 3 อวัยวะ และบุคลากรทางการแพทย์สามารถสานต่อ โดยทำการปลูกถ่ายอวัยวะทั้ง 3 จนสำเร็จ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงอยากฝากให้ทุกคนตระหนักถึงการบริจาคอวัยวะว่า ในวันหนึ่งอวัยวะของเราจะช่วยต่อชีวิตให้กับคนอื่นได้ สำหรับค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดครั้งนี้ประมาณ 3 ล้านกว่าบาท ซึ่งสิทธิบัตรทองครอบคลุมบางส่วน ส่วนที่เกินศิริราชก็ออกให้ ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาจาการบริจาคของคนไทย จึงขอเชิญชวนให้คนไทยร่วมบริจาคไม่ว่าจะเป็นเงินเท่าไร ก็สามารถช่วยกู้ชีวิตผู้อื่นได้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

พญ.ศรีสกุล จิรกาญจนากร อายรุแพทย์โรคหัวใจและปลูกถ่ายหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ 3 อวัยวะ เป็นโรคไตตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ระยะแรกสามารถรักษาด้วยยาและควบคุมอาการได้ ต่อมาการทำงานของไตแย่ลง จนเป็นโรคไตวายระยะสุดท้ายขณะอยู่ระดับอุดมศึกษา จึงรับการรักษาด้วยการฟอกเลือด ต่อมาผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยง่าย พบว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลวจากไตวายเรื้อรัง จึงใส่เครื่องกระตุกหัวใจก็ช่วยควบคุมได้ส่วนหนึ่ง แต่อาการกลับเป็นมากขึ้น โดยพบอาการท้องโต มีน้ำคั่งในช่องท้อง ต้องเจาะระบายน้ำในช่องท้องเป็นระยะๆ จึงพบภาวะตับแข็งจากหัวใจล้มเหลว จึงได้รับการส่งตัวมารักษาต่อที่คลินิกหัวใจล้มเหลว รพ.ศิริราช เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2560 เพื่อพิจารณาการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะหัวใจ ตับ และไต โดยผู้ป่วยได้รับการตรวจประเมินอย่างละเอียดตามมาตรฐานจากทีมแพทย์สหสาขาผู้เชี่ยวชาญการปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อพิจารณาความพร้อมและข้อห้ามในการผ่าตัด จากนั้นทีมแพทย์ได้ประชุมวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมในการรักษาอย่างละเอียดก่อนลงมือปลูกถ่ายอวัยวะ โดยเฉพาะเรื่องของการขาดโปรตีน เพราะผู้ป่วยเจาะเอาน้ำในช่องท้องออก ทำให้สูญเสียโปรตีนมาก ก็ต้องเตรียมผู้ป่วยให้พร้อม แต่ข้อดีคือผู้ป่วยอายุยังน้อย การฟื้นตัวจึงรวดเร็ว

รศ.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร รอง ผอ.รพ.ศิริราช หัวหน้าทีมศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ และศัลยแพทย์ปลูกถ่ายตับ กล่าวว่า การจะปลูกถ่ายอวัยวะนั้นต้องมีการประเมินว่าอวัยวะนั้นล้มเหลวจริงหรือไม่ จำเป็นต้องเปลี่ยนอวัยวะหรือไม่ ซึ่งการเปลี่ยนจะพิจารณาจากความเร่งด่วนของเคส สำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะทั้ง 3 อวัยวะนั้นต้องมีความแม่นยำและประสานกันเป็นอย่างดี โดยเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2560 ได้รับแจ้งว่ามีอวัยวะเข้ากันได้กับผู้ป่วย จึงมีการโทร.นัดผู้ป่วยให้มา รพ. ช่วงเช้าวันที่ 3 ธ.ค. เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้ารับการผ่าตัด การเตรียมเลือดและสารประกอบต่างๆ โดยเริ่มให้ยาระงับความรู้สึกตั้งแต่เวลา 11.30 น. ระหว่างนั้นจึงได้ส่งทีมแพทย์ 2 ทีมไปเอาอวัยวะจากผู้ป่วยสมองตาย โดยทีมแรกไปนำหัวใจ ทีมที่สองไปนำตับและไตมา ซึ่งการผ่าตัดปลูกถ่ายต้องดำเนินการโดยเร็วที่สุด โดยเริ่มจากปลูกถ่ายหัวใจ ตามด้วยตับ และไต ซึ่งจะต้องมีการประสานกันอย่างดีระหว่างทีมวิสัญญีแพทย์ ทีมแพทย์ผ่าตัดหัวใจ ทีมตับ และทีมไต รวมไปถึงพยาบาล เนื่องจากพื้นที่มีจำกัดในการผ่าตัด ก็ต้องประสานว่าช่วงไหนทีมไหนต้องเข้าต้องดำเนินการ

รศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายหัวใจ กล่าวว่า ที่ต้องผ่าตัดหัวใจก่อน เนื่องจากแต่ละอวัยวะมีความทนทานหลังออกนอกร่างกายต่างกัน โดยหัวใจไม่ควรนำออกเกิน 4 ชั่วโมง คือเมื่อมาถึงแล้วต้องปลูกถ่ายได้ทันที ดังนั้น เพื่อความรวดเร็วระหว่างทีมแพทย์ไปนำหัวใจ ก็ต้องเตรียมพร้อมผู้ป่วย โดยดำเนินการเลาะหัวใจเดิมออกจากร่าง โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 13.50 น. แล้วใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมแทน เมื่อหัวใจมาถึงก็ดำเนินการปลูกถ่ายทันที โดยทำการต่อเส้นเลือดใหญ่ทั้งหมด 6 จุด เสร็จแล้วจึงปล่อยเลือดให้ไหลกลับเข้าสู่หัวใจให้หัวใจกลับมาเต้น ผ่าตัดเสร็จสิ้นในเวลา 16.54 น. อย่างไรก็ตาม ปกติหลังผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจเสร็จสิ้นจะนำเครื่องปอดและหัวใจเทียมออก แต่รายนี้มีการปลูกถ่ายตับต่อ จึงยังคงเครื่องปอดและหัวใจเทียมไว้ก่อน

รศ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ขณะผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ ทีมปลูกถ่ายตัดก็ต้องเข้าทำการเลาะตับเดิมของผู้ป่วยออกมา โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 น. ซึ่งพบว่าพังผืดจำนวนมาก ทำให้เสียเวลาจากที่วางแผนไว้ประมาณ 15 - 30 นที แต่ก็สามารถเลาะตับเดิมออกได้มาอย่างเรียบร้อย และเมื่อผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจเสร็จสิ้น พบว่า หัวใจฟื้นกลับมาเต้นอย่างเดิมได้แล้วจึงดำเนินการผ่าตัดปลูกถ่ายตับต่อทันที โดยตัดต่อเส้นเลือดใหญ่ 4 จุด และตัดต่อเชื่อมกับท่อน้ำดี เสร็จสิ้นการปลูกถ่ายตับในเวลา 21.20 น.

รศ.นพ.ธวัชชัย ทวีมั่นคงทรัพย์ ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายไต กล่าวว่า สำหรับการปลูกถ่ายไตเริ่มเวลา 23.15 น. โดยเป็นอวัยวะสุดท้าย เนื่องจากหากหัวใจและตับไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้ดี ปลูกถ่ายไตไปก็ไม่มีประโยชน์ และไตเป็นอวัยวะที่นำออกจากร่างกายได้นานกว่าอวัยวะอื่น จึงสามารถรอได้ อย่างไรก้ตาม เนื่องจากปลูกถ่ายหัวใจและตับใช้เวลามาเกือบ 10 ชั่วโมงแล้ว การปลูกถ่ายไตจึงยิ่งต้องรวดเร็วที่สุด โดยทำการตัดต่อเส้นเลือดดำและแดงที่บริเวณอุ้งเชิงกราน และเมื่อปล่อยให้เลือดเข้าไปสู่ไต ก็ต้องรอดูการทำงานของไตว่าฟื้นขึ้นมาดีหรือไม่ และเมื่อไตเริ่มทำงานมีปัสสาวะออกมา จึงทำการต่อเชื่อมไปที่กระเพาะปัสสาวะ โดยดำเนินการเสร็จสิ้นเวลา 01.55 น. ของวันที่ 4 ธ.ค.2560

รศ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า การผ่าตัดทั้งหมดต้องมาลุ้นว่าทุกอวัยวะทำงานได้ดีหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดก็ผ่านไปได้ด้วยดี รวมระยะเวาผ่าตัดทั้งหมด 12 ชั่วโมง 5 นาที ถือเป็นเวลาที่รวดเร็วมากสำหรับการปลูกถ่าย 3 อวัยวะ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องดูแลหลังการผ่าตัดด้วย ว่า ร่างกายปฏิเสธอวัยวะหรือไม่ ซึ่งก็ต้องมีการให้ยากดภูมิ โดยต้องให้ยาอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายหรือร่างกายปฏิเสธอวัยวะ แต่จากการตรวจติดตามพบว่า หัวใจทำงานปกติดี การทำงานของตับดีขึ้นในการหลั่งสารต่างๆ หรือกำจัดของเสียในร่างกาย ค่าการทำงานของไตก็ดีขึ้น โดยต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลถึง 3 วอร์ดรวมกว่า 84 วัน ทั้งนี้ จากการค้นประวัติการปลูกถ่ายหัวใจ ตับ และไตร่วมกัน พบว่ามีการดำเนินการครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาในปี 1989 มีรายงานทั้งสิ้น 14 ราย การผ่าตัดในผู้ป่วยรายนี้ของศิริราชถือว่าเป็นรายที่ 15 ของโลก และรายแรกในเอเชีย

นายรชานนท์ รุ่งสว่าง ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ กล่าวว่า ตนป่วยเป็นกรวยไตอักเสบตั้งแต่อายุ 8 ขวบ แต่มาเป็นหนักตอนอายุ 21 ปี มีอาการบวมทั้งหน้า ขา และลำตัว ทำให้ไม่อยากไปเรียน จนเมื่ออายุ 23 ปี หลังเรียนจบได้เข้าฟอกเลือดโดยการเจาะคอ พอฟอกได้ 2 อาทิตย์ก็ตัดสินใจออกมาล้างหน้าท้อง หลังจากนั้น 6 เดือน จึงรู้ว่าเป็นโรคหัวใจด้วย น้ำท่วมปอดบ่อย ต้องใส่เครื่องกระตุกหัวใจ จากนั้นจึงได้รับการส่งตัวมายัง รพ.ศิริราช เพื่อพิจารณาเรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะ ทั้งนี้ ช่วงที่ป่วยรู้สึกเหนื่อยง่ายมาก มีความเจ็บปวดและทรมาน ซึ่งเคยท้อจนถึงคิดฆ่าตัวตายและรู้สึกเป็นภาระของครอบครัว แต่เมื่อมีโอกาสเข้ามาว่ามีอวัยวะให้เปลี่ยนก็ตัดสินใจลองดู หลังจากปลูกถ่ายเสร็จ ช่วงพักฟื้นที่มีสายต่อเข้าร่างกายจำนวนมากก็รู้สึกท้อเหมือนกัน แต่หลังจากร่างกายเริ่มดีขึ้น เริ่มถอดสายนั้นนี้ ก็มีกำลังใจมากขึ้น ทุกวันนี้หลังออกจากโรงพยาบาลก็มาตรวจติดตามตามนัดตลอด ส่วนร่างกายก็ดีขึ้น ไม่เหนื่อยง่าย สามารถทำงานได้ รู้สึกขอบคุณผู้บริจาคอวัยวะ ทีมแพทย์ทั้งหมดที่ช่วยให้ตนมีชีวิตใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น