xs
xsm
sm
md
lg

“หมอรัชฎาพร” ผอ.รพ.ขุนหาญ คว้าแพทย์ดีเด่นในชนบท ยึดคำสอนพ่อ ไม่โกงเงิน-โกงเวลาหลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หมอรัชฎาพร” ผอ.รพ.ขุนหาญ คว้ารางวัลแพทย์ดีเด่นในชยบท อยู่ในพื้นที่มากว่า 27 ปี เผยเลือกกลับมาทำงานที่บ้านเกิด เพราะมีความสุข แม้อดีตเป็นพื้นที่แดง ห่างไกล และติดชายแดน ยึดคำสอนของพ่อ อย่าโกงเงิน โกงเวลาหลวง ดูแลประชาชนให้ดีสมกับข้าราชการ พร้อมน้อมนำแนวทางรัชกาลที่ 9 เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

วันนี้ (4 เม.ย.) ในแถลงข่าวประกาศผลและมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2560 นพ.สมุทร จงวิศาล ประธานคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบทประจำปี 2560 กล่าวว่า ในปี 2560 มีผู้เสนอชื่อแพทย์ที่ปฏิบัติงานในชนบทจำนวน 9 ราย และจากการพิจารณาทำให้ได้แพทย์ดีเด่นในชนทบคนที่ 44 คือ พญ.รัชฎาพร  รุกเจริญ ผอ.โรงพยาบาลขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นผู้เกิด เติบโต ใช้ชีวิตรับราชการเป็นแพทย์อยู่ในภูมิลำเนาบ้านเกิด ซึ่งเป็นโรงพยาบาลติดชายแดนตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ และขณะนี้ก็ยังให้บริการด้านอื่นๆ ทั้งผ่าตัด และทำคลอดแก่ประชาชน ทั้งยังเป็นผู้นำกระบวนการมาตรฐานการบริการสุขภาพระดับชาติในพื้นที่ห่างไกล  แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ท่านมีการนำปัญหาของประชาชนเข้ามาปรับแก้ไข มาอย่างต่อเนื่องมานับได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดี และเป็นหัวใจในการให้บริการประชาชน ซึ่งสมควรแก่การรับรับเลือก

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า พญ.รัชฎาพร ถือเป็นสตรีคนที่ 2 ที่ได้เป็นแพทย์ดีเด่นในชนบท ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทั้งนี้ ท่านไม่ได้เป็นเพียงแพทย์ที่ไปดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล แต่ยังทำงานเชิงรุกออกไปดูแลนอกโรงพยาบาล และเข้าใจหลักการของการดูแลสุขภาพแบบหนึ่งเดียว ที่ดูแลทั้งสุขภาพของคน ของสัตว์ และสิ่งแวดล้อม โดยมีการออกไปดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งเหล่านั้นอาจกระทบกับสุขภาพประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่เข้าใจบริบทของการเป็นแพทย์ที่สมบูรณ์ รวมถึงเข้าใจเรื่องของการบริหารจัดการ เพราะสุขภาพไม่สามารถดูแลเพียงใครคนใดคนหนึ่ง แต่จำเป็นต้องประสานงานกัน อย่างไรก็ตาม แพทย์ชนบทเป็นแพทย์ที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยเป็นกลไก และเครื่องมือที่สำคัญในการทำให้ระบบการบริการสุขภาพสามารถกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ที่ห่างไกลและทุรกันดาร ห่างไกลความเจริญ ซึ่งไม่ใช่แค่ประชาชนแต่ยังหมายรวมถึงแพทย์ด้วยที่ยอมทิ้งความเจริญในเมือง ยอมเสียสละความสุขส่วนตัวไปดูแลผู้ป่วยผู้ด้อยโอกาส ซึ่งถือเป็นแพทย์ที่น่ายกย่อง สำหรับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประกอบด้วย โล่เกียรติยศและเงินรางวัล

พญ.รัชฎาพร กล่าวว่า รู้สึกปราบปลื้มดีใจที่ได้รับรางวัลนี้ และในเดือน เม.ย. นี้ ก็ถือเป็นการทำงานครบ 27 ปี แล้ว ทั้งนี้ ตนจบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นแพทย์โครงการต้องกลับไปทำงานที่บ้านเกิด ที่ จ.ศรีสะเกษ แม้จะมีให้เลือกพื้นที่ในจังหวัดหลายแห่ง แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรและเลือกมากทำงานที่โรงพยาบาลขุนหาญ ขณะนั้นไม่รู้จักคำว่าพื้นทีี่แดง รู้เพียงว่าอยากไปอยู่ในพื้นที่ที่มีความสุขและมีบรรยากาศที่ดี และก็มองไม่เห็นว่าเป็นพื้นที่อันตรายที่อยู่ติดแนวชายแดน รู้แต่เพียงว่าเราอยากทำงานที่ รพ.ขุนหาญ

“ขณะที่ทำงานที่ รพ.ขุนหาญ ไม่ได้คิดอะไรยึดเพียงคำสอนของพ่อ คือ เป็นข้าราชการที่ดี อย่าโกงเงินหลวง อย่าโกงเวลาหลวง และดูแลประชาชนให้ดี ซึ่งครอบครัวส่วนใหญ่เป็นราชการที่ปลูกฝังการเป็นข้าราชการที่ดี เดิมทีกลัวการเป็นหมอ แต่ก็ได้มาเป็นหมอ และไม่คิดอะไรมาก แค่อยากให้หน้าที่ให้ดีที่สุด แต่เมื่อไปทำงานก็ต้องปรับตัวเยอะ มีปัญหาเรื่องความเชื่อ เพราะเดิมทีจะพูดเยอะ พอทำงานไปได้ซักระยะก็จะไม่ตอบโต้ แต่จะพยายามเข้าใจและมองหาสิ่งที่เป็นความต้องการของผู้ป่วยจริงๆ ทำให้เริ่มปรับตัวได้และมีความสุขในการรักษาผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังน้อมนำแนวทางของรัชกาลที่ 9 มาปฎิบัติในเรื่องของการพัฒนา เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืน และพยายามให้ความสำคัญกับการมีส่วมในชุมชน” พญ.รัชฎาพร กล่าว

พญ.รัชฎาพร กล่าวว่า ตนเริ่มจากการพัฒนา เพื่อให้ชาวบ้านมีความรู้ มีทักษะ เก็บเกี่ยวทักษะต่างๆ ที่ชาวบ้านมี จนสุดท้ายได้รับความร่วมมือจากชุมชน และหน่วยงานในส่วนของภาคประชารัฐ นอกจากนี้ในการทำงานยังต้องมีความเชื่อมั่นในตัวของทีมทุกคน ซึ่งทำให้สามารถขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพในชุมชนได้อย่างดี และทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและมั่นใจในการทำงาน ทำให้เจ้าหน้าที่มีความสุข” ผอ.รพ.ขุนหาญ กล่าว และว่า ที่สำคัญ จะไม่ตีกรอบการทำงานของตัวเอง ทำให้การทำงานที่ผ่านมา ได้มีส่วนร่วมในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราจะเน้นทำในเรื่องการส่งเสริมป้องกัน เหมือนการส่งเสริมป้องกันสุขภาพ ซึ่งจะขอทำต่อไปอย่างเต็มความสามารถ ส่วนการทำงานที่ผ่านมาจะยึดหลักการทำงานให้เต็มที่มีความเข้าใจ และเข้าถึงคนในชุมชน








กำลังโหลดความคิดเห็น