xs
xsm
sm
md
lg

คณะแพทย์ มช.แจกหน้ากากอนามัยกระตุ้นคนรู้จักป้องกันตัวจากปัญหาคุณภาพอากาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - คณะแพทยศาสตร์ มช.แจกหน้ากากอนามัยให้บุคลากร หวังเป็นแบบอย่างรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวใส่ใจดูแลสุขภาพ ชี้ถึงแก้ปัญหาไม่ได้แต่อย่างน้อยควรรู้จักป้องกันตัวเอง ย้ำงดกิจกรรมกลางแจ้งช่วงที่ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน พบอัตราผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นช่วงที่มีปัญหาคุณภาพอากาศ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ของคณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ร่วมกันจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องภาวะหมอกควัน และการป้องกันตนเอง โดยภายในกิจกรรมนอกจากการให้ความรู้แล้วยังมีการแจกหน้ากากอนามัยให้แก่บุคลากรของคณะแพทยศาสตร์และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่กว่า 6,000 คนด้วย เพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้คนเกิดความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพและป้องกันตัวเองในสถานการณ์ปัญหาคุณภาพอากาศ

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หมอกควันเป็นปัญหาสำหรับคนเชียงใหม่ในปัจจุบัน และเป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตได้ โดยช่วงเดือนที่ผ่านมาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กของเชียงใหม่พุ่งสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน และยังถูกจัดให้เป็นจังหวัดที่มีค่ามลพิษอากาศสูง ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโรคหัวใจ และโรคปอด ดังนั้นทางคณะแพทย์ฯ อยากแนะนำและกระตุ้นเตือนให้ประชาชนเกิดความตระหนักและตื่นตัวที่จะดูแลสุขภาพตนเอง เพราะแม้จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่อย่างน้อยทุกคนสามารถป้องกันตัวเองได้

ทั้งนี้ แนะนำว่าในช่วงที่คุณภาพอากาศแย่และค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน ควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะการออกกำลังกาย เพราะจะทำให้สูดเอามลพิษเข้าสู่ร่างกายมากกว่าปกติและยิ่งเข้าไปสู่ปอดชั้นในจากการหายใจที่ถี่และแรงขึ้น หากจำเป็นต้องออกไปทำกิจกรรมที่โล่งแจ้งควรใส่หน้ากากอนามัย และหากเป็นไปได้ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยแบบพิเศษที่เรียกว่า N95 เพราะป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ดีกว่า

ด้านรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรินทยา พรหมินธิกุล อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการเก็บสถิติผู้ป่วยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลกับค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน โดยพบว่าในช่วงเดือนที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานจะมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบ หืด ถุงลมโป่งพอง รวมทั้งผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งน่าจะเป็นผลจากฝุ่นที่ทำให้อาการป่วยกำเริบ ขณะที่การเสียชีวิตของผู้ป่วยนั้น แม้จะยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นผลโดยตรง แต่จากการศึกษาทั่วโลกพบว่าอาจจะมีความสัมพันธ์กัน







กำลังโหลดความคิดเห็น