xs
xsm
sm
md
lg

ยันรวม “ก.วิทย์-สกอ.” ตั้งกระทรวงใหม่ คาด 2-3 เดือนเสนอ ครม.ได้ จ่อหารือกลุ่มมหา'ลัยสัปดาห์หน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กอบศักดิ์” ยันเดินหน้าควบรวม วท.- สกอ.- หน่วยงานวิจัย เป็นกระทรวงใหม่ “กระทรวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และการอุดมศึกษา” มั่นใจ 2 - 3 เดือน ขับเคลื่อน พ.ร.บ. 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จ พร้อมเสนอ ครม. “สุวิทย์” ยันนำ สกอ. มารวมไม่ทำให้เทอะทะเหมือนอยู่ ศธ. เพราะมีโจทย์ชัดเจน ไม่ทิ้งมหาวิทยาลัยเชิงสังคม เหตุมีกองทุนสนับสนุนโดยเฉพาะ

วันนี้ (25 พ.ค.) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พร้อมด้วย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) ร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าการรวม วท. กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และหน่วยงานด้านงานวิจัย เช่น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นต้น 

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยจึงมีความท้าทายอยู่มาก ทั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ การสร้างผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ การสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่ขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งประเทศไทยยังคงมีปัญหาในพอสมควร จึงเป็นที่มาในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาในจุดนี้ ซึ่งจะต้องปฏิรูปอุดมศึกษาเพื่อสร้างคน ปฏิรูป วท. เพื่อสร้างนวัตกรรม ซึ่งหากทำได้ก็จะเกิดกำลังที่เข้มแข็ง เพราะเป็นสองหน่วยงานที่จะนำไปสู่การสร้างคนและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ประเทศ เมื่อควบรวม วท. และ สกอ. ได้ ตนเชื่อว่า เราจะสามารถขับเคลื่อนงานวิจัยที่พุ่งเป้าและเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน โดยยืนยันว่าเราจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประเทศไทย สำหรับรัฐมนตรีที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในกระทรวงใหม่จะต้องดูใน 2 ส่วน คือ การจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยของประเทศ และดูแลคณะทำงานที่จะเข้ามาทำงานวิจัยที่ขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้าและจะทำให้มหาวิทยาลัยเดินหน้าไปได้ ไม่ใช่ทำคนละทางแบบที่ผ่านมา อีกทั้งยังนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆ ด้วย ซึ่งกระทรวงใหม่ที่จะเกิดขึ้นก็จะมาดูแลในส่วนนี้

“ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะล่าช้า ผมคิดว่าเรื่องนี้จะสามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ อีกทั้งในขั้นตอนการยกร่าง พ.ร.บ. ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน คือ พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เพื่อจัดตั้งกระทรวงใหม่ รวมถึง พ.ร.บ. อุดมศึกษา และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ที่มีการยกร่างมาระยะหนึ่งแล้ว เหลือเพียงการปรับในรายละเอียดเล็กน้อย แล้วนำมารวมกันก็สามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

ด้าน ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า การขับเคลื่อน พ.ร.บ. ทั้งหมด 3 ฉบับนั้น ดร.กอบศักดิ์ ก็ยืนยันว่า น่าจะสามารถขับเคลื่อนได้ภายใน 2 - 3 เดือน ส่วนกระทรวงใหม่นี้จะแบ่งการดำเนินงานหรือการบริหารจัดการออกเป็น 4 ด้าน คือ 1. เรื่องของนโยบายและการจัดสรรงบประมาณเรื่องทุนต่างๆ 2. สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องสถาบันวิจัยต่างๆ ซึ่งรูปแบบที่จะจัดตั้งขึ้นนั้นจะมีต้นแบบจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน 3. มหาวิทยาลัยวิจัย และ 4. มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ทั้งนี้ เมื่อตั้งกระทรวงใหม่เรียบร้อย จะมีการตั้ง 3 กองทุน คือ 1. กองทุนพัฒนาการอุดมศึกษาและผลงานวิจัย เพื่อสนับสนุนกลุ่มมหาวิทยาลัยเพื่อวิจัย 2. กองทุนวิจัยและพัฒนาสังคมและพื้นที่ สนับสนุนกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยท้องถิ่น และสนับสนุนงานวิจัยทางสังคม  และ 3. กองทุนวิจัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและการแข่งขัน จะเน้นส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและสตาร์ทอัป เพื่อแก้ปัญหาการขอทุนสนับสนุนงานวิจัยที่กระจัดกระจายหลายหน่วยงาน ส่วนเรื่องชื่อกระทรวงใหม่ว่าจะใช้อะไรนำนั้นเป็นเรื่องที่ค่อยมาว่ากันภายหลัง

ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลเรื่องกระแสคัดค้านจากทางมหาวิทยาลัยหรือไม่ เพราะหากไปรวมเป็นกระทรวงใหม่อาจมีความเทอะทะไม่ต่างจากตอนรวมกับ ศธ. ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ถึงต้องมีการเชิญมาหารือร่วมกันและพูดคุยทำความเข้าใจ เนื่องจากเขาก็เพิ่งรับทราบว่าไม่ใช่แค่เป็นกระทรวงการอุดมศึกษาแล้ว แต่เป็นกระทรวงที่ใหญ่กว่านั้น ทั้งนี้ ยืนยันว่า การมารวมเป็นกระทรวงใหม่ไม่ได้ทำให้การบริหารงานเทอะทะ เพราะว่าเรามียุทธศาสตร์ มีโจทย์ที่ชัดเจน ทั้งนี้ เชื่อว่า เมื่อพูดคุยแล้ว หากหลายคนมีความเข้าใจจะทราบเลยว่าทุกอย่างนั้นดีขึ้น เพราะจะมีงบประมาณ มีกองทุนต่างๆ ที่เป็นเรื่องของการพัฒนามหาวิทยาลัย พัฒนาขีดความสามารถ พัฒนาเรื่องพื้นที่และสังคมศาสตร์ เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินได้ฟังก็น่าจะเข้าใจมากขึ้น โดยสัปดาห์หน้าจะมีการหารือทำความเข้าใจกับ นพ.อุดม คชินทร รมช.ศธ. ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ทปอ. มหาวิทยาลัยราชภัฏ และ ทปอ. มหาวิทยาลัยราชมงคล สำหรับประเด็นความเห็นไม่ตรงกันกับ นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ ที่มองว่า ควรแยกอุดมศึกษาเป็นกระทรวงก่อนค่อยมารวมกับกระทรวงวิทย์ภายหลัง แต่แนวทางของกระทรวงวิทย์นั้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ที่เห็นว่าควรทำให้เสร็จภายในครั้งเดียว

“เราเชื่อว่า มหาวิทยาลัยจะเป็นตัวหลักหรือเป็นหัวหอกในการไปสู่ 4.0 ส่วนเรื่องกังวลว่าไม่ให้ความสนใจด้านสังคมศาสตร์นั้นก็ไม่ใช่ เพราะก็มีกองทุนที่เน้นในเรื่องของสังคมศาสตร์ ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยเองก็ทำการสร้างคนเรื่องในเชิงวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์อยู่แล้ว ผมมองว่าเป็นเรื่องการทำความเข้าใจมากกว่า ถ้าไปคุยกับมหาวิทยาลัยได้ยินได้ฟังน่าจะแฮปปี้ ไม่ได้มีอะไรที่น่าตกใจหรืออิสระของเขาน้อยลงเลย” ดร.สุวิทย์ กล่าว 

เมื่อถามถึงหน่วยงานวิจัยต่างๆ จะถูกล้ม พ.ร.บ. และกลายเป็นส่วนราชการของกระทรวงใหม่หรือไม่ ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า เรายังไม่ขยับในเชิงหน่วยงาน เราขยับในส่วนของ พ.ร.บ. ใหญ่ หน่วยงานวิจัยอย่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หรืออย่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เป็นต้น ก็ล้วนมี พ.ร.บ. ของเขาอยู่แล้ว ตรงนี้มองว่าหน่วยงานเหล่านี้ก็ยังเป็นองค์กรที่มี พ.ร.บ. เฉพาะเหมือนเดิม แต่เพียงมารวมกันอยู่ในการบริหารจัดการด้านที่ 2 ของกระทรวงใหม่ ตอนนี้ควรเริ่มจากภาพใหญ่ก่อน แล้วค่อยขยับในชั้นต่อมาภายหลัง ซึ่งงานนี้ยังอีกหลายระลอก เช่น การปรับแก้ พ.ร.บ. ของแต่ละหน่วยงานให้มาขึ้นตรงกับกระทรวงใหม่นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น