“อนุทิน” เปิดคลินิคกัญชาทางการแพทย์แผนไทย ให้บริการยา 4 ตำรับ รวมน้ำมันสูตร “อ.เดชา” แก้ไมเกรน-นอนไม่หลับ ส่วนการให้ปลูกบ้านละ 6 ต้น รอกฎหมายใหม่ อยู่ในสภาแล้ว พร้อมดันเป็นพืชเศรษฐกิจ ด้าน สธ.ตั้งเป้าปี 63 ต้องให้บริการผู้ป่วยด้วยยาสูตรกัญชาได้ทั่วประเทศ
วันนี้ (6 ม.ค.) ที่อาคารพิพิธภัณฑ์การสาธารณสุขและการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นประธานเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไทย มีผู้บริหารในกระทรวงเข้าร่วมงาน อาทิ นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก งานดังกล่าวได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
นายอนุทินกล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้มาเดินหน้านโยบายกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง โชคดีที่หลายภาคส่วนให้ความร่วมมือ ขอขอบคุณบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขทุกท่าน วันนี้มีความคืบหน้าล่าสุด คือ การเปิดคลินิกกัญชาแผนไทย ที่ได้มาเป็นประธาน ที่นี่จะรับรักษาอย่างครบวงจร และจะเป็นต้นแบบของการให้บริการ มีแผนผลักดันให้ทั่วประเทศต้องมีคลินิกลักษณะเดียวกันเพื่อให้บริการอย่างทั่วถึง เชื่อว่าหากทำสำเร็จจะได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะปัจจุบันมีประชาชนจำนวนไม่น้อยเลือกรักษาแพทย์แผนไทย แค่คนป่วยของ อ.เดชา ศิริภัทร ก็มีหลายหมื่นคน ทั้งนี้ การรักษาในคลินิกกัญชาจะต้องเก็บข้อมูลเพื่อพัฒนางานด้านการแพทย์ต่อไป หากผลการรักษาเป็นบวกจะต้องผลักดันนากัญชาเข้าไปอยู่ในบัญชียาของ สปสช.
“เบื้องต้นที่คลินิกมีตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมที่จะให้บริการ 4 ตำรับ คือ ยาตำรับศุขไสยาศน์ ตำรับทำลายพระสุเมรุ ยาแก้ลมแก้เส้น และน้ำมันกัญชาสูตรอาจารย์เดชา รักษาอาการไมเกรน นอนไม่หลับ ปวดข้อ ปวดตึงกล้ามเนื้อ ลดอาการมือเท้าชา ช่วยเจริญอาหาร ซึ่งจากดำเนินงานที่ผ่านมาผลการรักษาด้วยสารสกัดจากกัญชาในผู้ป่วยได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และจะนำผลการรักษาและผลที่ได้จากการศึกษามาผลักดัน สนับสนุนการแก้กฎหมายเพื่อให้คนไทยเข้าถึงการใช้กัญชาในการรักษาโรค และอาการเจ็บป่วยได้มากที่สุด”
นายอนุทินกล่าวต่อว่า เรื่องของกัญชาเสรีทางการแพทย์ต้องเกิดขึ้น เราสนับสนุนให้ใช้กัญชารักษาโรค แต่ไม่ใช่เพื่อสันทนาการ ปัจจุบันได้ใช้อำนาจที่มีอยู่เข้าไปแก้ไขกฎกรอบต่างๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบเพื่อคลายล็อกให้นำสารสกัดจากกัญชาและกัญชงมาใช้ทางการแพทย์ เราให้องค์การเภสัชกรรมผลิตสารสกัดจากกัญชาได้ เราให้สูตรกัญชาของหมอพื้นบ้านมาขึ้นทะเบียน และให้ภาครัฐผลิตได้ เรากำลังนำสารสกัดกัญชาที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานมาอยู่บนดินแทนที่ของใต้ดินที่ไม่รู้ที่มาที่ไป
นอกจากนั้น กำลังหารือเพื่อหาทางให้แพทย์แผนปัจจุบัน จ่ายยาที่มีส่วนผสมของกัญชาได้ ส่วนในเรื่อง 6 ต้น ต้องรอกฎหมายฉบับใหม่ซึ่งพิจารณาอยู่ในสภาแล้ว ต้องผ่านหลายด่าน จะเห็นว่าการผลักดันกัญชาที่ยังเป็นยาเสพติด มันมีอุปสรรคของกฎหมาย แต่ไม่เคยนิ่งนอนใจ พยายามใช้ทุกช่องทางเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ในความเป็นจริงประชาชนสามารถรวมตัวและปลูกกัญชาได้แล้ว เพียงแต่ต้องร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เมื่อสามารถทำกำไรได้ก็มาแบ่งกัน หากกัญชาได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางก็จะเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย
ด้านนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไทย ในตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัย ภายใต้กรอบเงื่อนไขที่ถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมาย โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา 6 แห่ง สภาเกษตรกรแห่งชาติ และวิสาหกิจชุมชน 3 แห่ง เพื่อวิจัยกัญชาสายพันธุ์ไทยที่ดีที่สุดและให้มีวัตถุดิบกัญชาสำหรับนำมาผลิตตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสม โดยโรงงานผลิตยาของรัฐที่ผ่านมาตรฐาน WHO GMP จำนวน 6 แห่ง เป็นผู้ผลิตยา 16 ตำรับ กระจายให้แก่คลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยในหน่วยบริการของรัฐทั่วประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไทย ทั้งหมด 25 แห่งทั่วประเทศ เป็นคลินิกกัญชาแผนไทยที่โรงพยาบาลชุมชน 13 แห่ง คลินิกกัญชาการแพทย์ผสมผสานประจำโรงพยาบาลศูนย์ 12 แห่ง
สำหรับตำรับยากัญชาทางการแพทย์แผนไทยที่ใช้รักษาอยู่นั้นผลิตได้ที่ รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จ.สกลนคร และกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร และอีก 5 แห่งอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อขออนุญาตผลิต คือ โรงพยาบาลคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์, โรงพยาบาลดอนตูม จังหวัดนครปฐม, โรงพยาบาลเด่นชัย จังหวัดแพร่, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี และกองพัฒนายาไทยและสมุนไพร จังหวัดปทุมธานี ในปี 2562 มีโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชน ได้รับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมแล้ว 86 แห่ง
ทั้งนี้ ประชาชนสนใจเข้ารับการรักษาที่คลินิกกัญชาแผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข สามารถจองคิวได้ที่แอปพลิเคชัน “กัญชาทางการแพทย์แผนไทย” “Dr.Ganja in TTM” ทางสมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ สำหรับระบบ IOS อยู่ในระหว่างดำเนินการ และรับลงทะเบียนหน้างาน ซึ่งจะเป็นคิวเสริมต่อจากผู้ป่วยที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันในแต่ละวัน รับได้ 50 คน/วัน และไม่เกินเวลา 12.00 น. โดยคลินิกจะเปิดเวลา 08.30-15.30 น.ทุกวัน ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ในช่วงวันที่ 6-17 มกราคม รับผู้ป่วยวันละ 300 คน จากนั้นจะให้บริการวันละ 200 คน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย ชั้นใต้ดินอาคาร อาคารพิพิธภัณฑ์การสาธารณสุขและการแพทย์ไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทรศัพท์ 0-2590-2606 และ 0-2591-1964