xs
xsm
sm
md
lg

"สาวพักตับ" ช่วย ต.นาข้าวเสีย งดเหล้ามากสุดใน จ.ตรัง สสส.หนุน กทม.เปิดทางชุมชนรวมตัวแก้ปัญหา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส.ย้ำกระจายอำนาจ "ชุมชน" ร่วมแก้ปัญหา ยก "นาข้าวเสีย" ต้นแบบตำบลงดเหล้า อาศัยกลไก "สาวพักตับ" ช่วยจากพื้นที่สีแดงกลายเป็นพื้นที่คนงดเหล้ามากที่สุดในจังหวัด รัฐให้ภาษีสรรพสามิตลงครึ่งหนึ่งจาก 6 แสนบาทต่อปีเหลือ 3 แสนบาทต่อปี สะท้อนดื่มเหล้าลดลง หนุนผู้ว่าฯ กทม.เปิดทางชุมชนรวมตัวแก้ปัญหา ชี้ระบบ ส.ส. สภา ใหญ่เกินกว่าแก้ปัญหาชุมชน

วันนี้ (20 ธ.ค.) นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวภายหลังศึกษาดูงานพื้นที่ต้นแบบด้านการจัดการความปลอดภัยเชิงบูรณาการประเด็นแอลกอฮอล์ อบต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง ว่า สสส. ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดหล้า (สคล.) ริเริ่มโครงการรณรงค์ "งดเหล้าเข้าพรรษา" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 เพื่อเชิญชวนให้คนไทย ลด ละ เลิก การดื่มเหล้า โดยใช้แนวทางจากการสร้างชุมชนคนสู้เหล้า โดยมีแกนนำชุมชน อสม. และแกนนำนักรณรงค์คนหัวใจเพชร(เลิกเหล้าตลอดชีวิต) ที่เป็นจิตอาสา ช่วยสื่อสารและร่วมขับเคลื่อนงานรณรงค์เลิกเหล้าในชุมชนโดยชวนให้งดเหล้าเข้าพรรษาเป็นจุดเริ่มต้นของการงดตลอดชีวิต พื้นที่ ต.นาข้าวเสีย ถือเป็นหนึ่งใน 892 ชุมชนทั่วประเทศที่ร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาของ สสส. และประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการแก้ปัญหาประเด็นเหล้า โดยสร้างแกนนำในชุมชนเป็นพี่เลี้ยง ชี้ชวนให้ตระหนักถึงผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อชีวิตของตนและครอบครัว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่แตกต่างจากสังคมเมืองของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้มีการมาดูแลช่วยเหลือกันให้เลิกเหล้าเหมือนในชุมชนต่างจังหวัด เป็นสิ่งที่ สสส.ต้องมาเรียนรู้

"ชุมชนจะต้องเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาและมีทางแก้ไข ซึ่งชาว ต.นาข้าวเสีย พิสูจน์เรื่องนี้อย่างดี เพราะทนไม่ได้ที่เห็นเยาวชนจับกลุ่มดื่มเหล้า พ่อบ้านตั้งวงดื่มเหล้า และเกิดปัญหามากมาย จึงรวมตัวกันคิดว่าทำอะไรได้บ้าง เอาผู้หญิงที่มีปัญหามาพูดคุยกัน สุดท้ายก็สามารถชนะปัญหาต่างๆ ได้ อย่างเรื่องการใช้เงินในกระเป๋าของครอบครัวไปซื้อเหล้า บุหรี่ พนัน ซึ่งบั่นทอนเศรษฐกิจครอบครัว ถ้าลดละเลิดได้ครอบครัวจะมีความสุขมากขึ้น ลูกมีตัวอย่างที่ดี อนาคตก็จะไปในทางที่ดีขึ้น อย่างนาข้าวเสียซึ่งเดิมเป็นพื้นที่สีแดงมีคนติดสุราจำนวนมากก็ลดลงได้มากที่สุดในจังหวัด" นพ.คำนวณ กล่าว

นพ.คำนวณ กล่าวต่อว่า จากการประเมินผลการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2562 โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) และสสส. พบมีผู้ร่วมงดเหล้าเข้าพรรษา 53.5% แบ่งเป็น ผู้ที่งดเหล้าตลอดพรรษา 31% และผู้ที่งดบางช่วงและลดการดื่ม 22.5% กลุ่มที่ลด ละ เลิกดื่ม ส่วนใหญ่ระบุว่าทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่ายได้ เฉลี่ยรายละ 1,284 บาท ภาพรวมทั้งประเทศประหยัดค่าใช้จ่ายได้นับหมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังพบว่าในเดือนที่มีรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ช่วยลดผู้เสียชีวิตจากทุกสาเหตุลง 9% การเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์ลดลง 25% และยังส่งผลให้การดื่มลดลง 10% อีกด้วย นอกจากนี้ ผลสำรวจตั้งแต่ปี 2559-2561 พบว่า มีคนอยากเลิกดื่มตลอดชีวิต 13% อยากลดปริมาณลง 58% แสดงให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างมีแนวโน้มที่จะลด ละ เลิกดื่มมากถึง 71%

นางพยอม หนูนุ่ม ชาวบ้าน ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง หนึ่งในสมาชิกสาวพักตับผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการดำเนินงานขบวนการ "สาวพักตับ ช่วย ชม เชียร์ คนสู้เหล้า" กล่าวว่า คำว่าสาวพักตับได้เรียกติดปากกันมาตั้งแต่ปี 2558 มาจากเครือข่ายอาสาสมัครสตรี ซึ่งเป็นแกนนำชวนเลิกเหล้า และสวมเสื้อพักตับ โดยการทำงานเริ่มต้นจากการชักชวนคนใกล้ตัวคือสามีเข้าร่วมกิจกรรม จากนั้นชวนลูกหลาน คนใกล้บ้านเข้าร่วม ระยะแรกมีคนต่อต้านและมีผู้เข้าร่วมเพียงเล็กน้อย จึงได้พัฒนากลยุทธ์สำคัญคือการสร้างพลังทางใจและแรงจูงใจให้กับผู้ดื่มเหล้า ช่วยให้คนที่อยากเลิกเหล้าทำสำเร็จ ทำให้มีจำนวนผู้ดื่มเหล้าลงลงทุกปี ปัจจุบันขบวนการ "สาวพักตับ ช่วย ชม เชียร์ คนสู้เหล้า" มีสมาชิก 110  คน โดยปี 2562 นี้ ได้ชักชวนคนเลิกเหล้ารวม 66 คน สามารถเลิกเหล้าตลอดพรรษาเป็นคนหัวใจหิน 56 คน และสามารถเลิกเหล้าตลอดชีวิตเป็นคนหัวใจเพชร 10 คน จากการได้ติดตามผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมพบว่าครอบครัวประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 2,000-3,000 บาทต่อเดือน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ครอบครัวไม่ทะเลาะกัน สร้างความอบอุ่นในครอบครัว นอกจากนี้ กลุ่มสาวพักตับยังได้ร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์อื่นๆ ในอ.นาโยง เช่น การช่วยเหลือ เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ยากไร้ เมาไม่ขับ  ขับปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย มอบอาหารเครื่องดื่มให้กับจุดตรวจช่วงสงกรานต์ ปีใหม่ ฯลฯ สำหรับพื้นที่ ต.นาข้าวเสีย เคยมีภาษีสรรพสามิตสูงถึง 6 แสนบาทต่อปี หลังจากรณรงค์พบว่าช่วยลดการจ่ายภาษีสรรพสามิตลงครึ่งหนึ่ง เหลือประมาณ 3 แสนบาทต่อปี

เมื่อถามถึงปัญหาการดื่มใน กทม. ที่ไม่มีชุมชนมาช่วยเลิกดื่มจะแก้อย่างไร  นพ.คำนวณ กล่าวว่า การกระจายอำนาจ มีท้องถ่น อบต. เป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนชาวบ้านทำกิจกรรมต่างๆ แต่ กทม.คือใหญ่มาก เวลามีปัญหาไม่รู้ว่าจะบอกใคร แต่ชุมชนที่นี่มีปัญหารวมตัวกัน ชุมชนก็ช่วยต่างๆ และขอการสนับสนุนเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของสังคมชนบทที่สังคมเมืองไม่มี คือความห็นอกเห็นใจ น้ำหนึ่งใจเดียวกัน การมีชุมชนที่เข้มแข็งเป็นทิศทางออกการแก้ปัญหาทุกเรื่อง ส่วนใน กทม.นั้น มองว่า อีกไม่นานคงมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถ้าเผื่อผู้ว่าฯ กทม.มีนโยบายที่จะให้มีการรวมตัวของชุมชนเล็กๆ  ไม่ใช่เจตแล้วมี ส.ส. สภา แบบนี้ใหญ่เกินไป แต่ให้ทุกชุมชนรวมตัวกัน มีตัวแทนคิดปัญหา หยิบยกปัญหามาดูว่าจะแก้ไขอะไรได้บ้าง แล้วผู้ว่าฯ กทม.ที่มีงบประมาณกำลังคบนมาทำตัวเป็นผู้สนับสนุนจะแก้ปัญหาได้เยอะ รวมถึงเรื่องขยะ สารพัดปัญหาก็จะแก้ในระดับชุมชนได้
















กำลังโหลดความคิดเห็น