สสส.ชู 16 ปี "งดเหล้าเข้าพรรษา" เรือธงกระตุกสังคมลดละเลิก "น้ำเมา" ชี้ประสบความสำเร็จ คนงดเหล้าครบพรรษามากขึ้น ขยายลงสู่ชุมชนเลิกเหล้าอย่างต่อเนื่อง มี 5% ตั้งใจเลิกตลอดชีวิต ช่วยลดอุบัติเหตุลง 25% ประหยัดค่าใช้จ่าย 8 พันกว่าล้านบาทในช่วง 3 เดือน เล็งขับเคลื่อนงานระดับโลกออก กม.ควบคุมเหล้าระหว่างประเทศแบบบุหรี่
วันนี้ (30 ต.ค.) ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าวออกพรรษาภายใต้แนวคิด "ออกพรรษาลาเหล้า ปี 2562" จัดโดย สสส.ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ว่า โครงการงดเหล้าเข้าพรรษาเริ่มต้นเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นทุนทางศาสนา เพราะแต่เดิมช่วงเข้าพรรษาก็จะมีการงดเหล้ากันอยู่แล้ว แต่เริ่มลดหายไปตามกาลเวลา จึงหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ และช่วงเวลา 3 เดือนของการเข้าพรรษาถือเป็นโอกาสในการสื่อสารรณรงค์ในการลดละเลิก สำรวมพฤติกรรม ให้ข้อมูลถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งต่อตนเองและคนรอบข้าง เช่น เลิกเหล้าเพื่อแม่ รับน้องปลอดเหล้า จนเครียดกินเหล้า ยิ่งกินยิ่งจน เมาแล้วขับ ดื่มแล้วขับเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะจากการประเมินถือว่าผ่านการเป็นแบรนดิง หรือตราสัญลักษณ์ที่พอเอ่ยถึงแล้วทุกคนรู้จัก จำได้ เข้าใจความหมาย โครงการนี้ถือเป็นเรือธงหลักของ สสส. ซึ่งจุดกระแสให้กับคนในสังคมเห็นว่า การดื่มไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคลของคนดื่ม แต่กระทบไปยังบุคคลอื่นรอบข้างและสังคมด้วย และสังคมเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นถึงพิษภัยแอลกอฮอล์ ก็นำมาสู่ของการออก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพื่อควบคุม ซึ่งคงทำให้เครื่องแอลกอฮอล์หมดไปไม่ได้ แต่พยายามจำกัดไม่ให้เกิดปัญหาสังคมไปมากกว่านี้
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ตลอด 16 ปีของโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา พบว่า โครงการนี้เข้าไปอยู่ในใจและสามัญสำนึกของคนไทย เพราะเมื่อโพลถามว่านึกถึงอะไรในวันเข้าพรรษา อันดับหนึ่งคือวันสำคัญทางศาสนา อันดับสองคือการงดเหล้า และเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนถูกกระตุกให้สำรวมลงถ้ายังไม่เลิก และหลายฝ่ายใช้เป็นจุดเริ่มต้นให้เลิกเหล้า ออกกติกาสังคมสำคัญให้การกินเหล้าเป็นอย่างจำกัดขึ้น สำรวมขึ้นและปลอดภัยขึ้น นอกจากนี้ จากการสำรวจโดยสำนักบัญชีประชาชาติ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พบว่า คนไทยมีค่าใช้จ่ายครัวเรือนในการดื่มเหล้าลดลง ขณะที่อุบัติเหตุช่วงเข้าพรรษาก็ลดลง 9% อุบัติเหตุที่สัมพันธ์กับการดื่มหรือเมาแล้วขับลดลงถึง 25% ส่วนหลายตัวที่ยังไม่อาจวัดได้ชัดเจน เช่น ความสุขในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น เรื่องของผู้คนเข้ามาอยู่ในผลิตภาพทางการงานได้ดีขึ้น ก็ต้องวิจัยต่อ แต่การงดเหล้าเข้าพรรษาปี 2562 ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) และ สสส. ศึกษาพบว่า มีผู้ร่วมงดเหล้าเข้าพรรษา 53.5% เป็นผู้งดเหล้าตลอดพรรษา 31% งดบางช่วง 22.5% โดยรวมสัดส่วนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ระบุว่า ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงดีขึ้น อีกครึ่งหนึ่งให้เหตุผลเรื่องประหยัด เฉลี่ยคนละ 1,284 บาท หากประมาณการช่วงเข้าพรรษาอาจประหยัดได้ถึง 8,251 ล้านบาท กลุ่มที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมี 5% ตั้งใจจะเลิกดื่มตลอดชีวิต
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ยังต่อยอดไปสู่เรื่องของการงดเหล้าให้ได้ต่อเนื่องด้วย เช่น งดเหล้าครบพรรษาเป็นคนหัวใจหิน เลิกต่อเนื่องหลังออกพรรษาเป็นคนหัวใจเหล็ก และเลิกตลอดไปเป็นคนหัวใจเพชร ซึ่งอาศัยความร่วมมือของชมรม ชุมนุม ภาคประชาสังคม ในการช่วยปรับสิ่งแวดล้อม เกื้อหนุนให้เกิดการเลิกดื่มได้อย่างต่อเนื่อง เพราะการดื่มแอลกอฮอล์พื้นฐานมาจากเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมในการชวนให้คนออกไปดื่ม เพราะแอลกอฮอล์ถูกกำหนดให้เป็นเครื่องมือในการพบปะสังสรรค์ หรือใช้เป็นบทบาทในการแสดงความเป็นผู้ใหญ่ เป็นอุปกรณ์ประกอบเทศกาลสังสรรค์เฮฮา เราจึงท้าทายค่านิยมต่างๆ เหล่านี้ ด้วยการขับเคลื่อนต่อไปจนถึงสงกรานต์ปลอดเหล้า งานบุญปลอดเหล้า เป็นต้น เพื่อให้เกิดการเลิกเหล้าได้อย่างต่อเนื่อง ขยายออกไปในชุมชน นอกจากนี้ เรายังขยายไปยังระดับโลก ด้วยการเสนอที่ประชุมสหประชาชาติในการออกกฎหมายระดับโลกเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เหมือนกับบุหรี่ โดยออกเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศ ที่อาจให้ประเทศต่างๆ เข้าร่วมลงนาม และออกไกด์ไลน์ในการนำไปปฏิบัติ ส่วนในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่จะถึงนี้ ก็พยายามเสนอให้เป็นลักษณะของ Healthy Meeting ประชุมแบบมีสุขภาวะ ซึ่งทำได้หลายอย่าง ทั้งอาหารที่ควรลดหมานมันเค็มจัด หรือการมีกิจกรรมทางกาย ไม่เสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ก็ถือว่าไม่ง่าย เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการทูตสากล ก็ได้แต่เชิญชวน
นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการ สคล. กล่าวว่า การงดเหล้าเข้าพรรษา 3 เดือน ส่วนหนึ่งคนยังมองว่า เข้าพรรษามีทุกปี ไม่ต้องงดเหล้าจนครบก็ได้ งดได้เท่าไหนก็เท่านั้น และที่ผ่านมาก็มีคนถามและเสนอว่าควรจะมีการขยายการงดเหล้าออกไปให้มากกว่า 3 เดือน ซึ่งการจะส่งเสริมให้เลิกเหล้าได้อย่างต่อเนื่อง จึงต้องลงมาทำงานกับชุมชน ในการช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมในการงดเหล้า ทำให้เกิดการทำงานภายใต้เครือข่ายชุมชน รวมไปถึงขยายไปยังนายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเข้ามาร่วมออกกฎกติกาในชุมชน และการดึงหน่วยงานต่างๆ มาเข้าร่วม เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ในโครงการพระโพธิสัตว์น้อย ในการให้ลูกชวนพ่อแม่งดเหล้า ก็พบว่าประสบความสำเร็จ