xs
xsm
sm
md
lg

ต่อยอด "งดเหล้าเข้าพรรษา" สู่งานชุมชน ดึงคนเลิกเหล้าต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"งดเหล้าเข้าพรรษา" ถือเป็นแคมเปญดังที่ใครๆ ก็รู้จัก เพราะกว่า 16 ปีที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2546 ได้สร้างปรากฏการณ์ให้สังคมตื่นตระหนักรู้ และเห็นพิษภัยของน้ำเมามากขึ้น จนขยายมาสู่การเลิกเหล้าอย่างต่อเนื่องที่มากกว่าแค่ 3 เดือนของการเข้าพรรษา และกลายเป็นแบรนดิงที่เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษา ทุกคนย่อมนึกถึงโครงการนี้

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ระบุว่า โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ถือเป็นเรือธงหลักของ สสส. ในการลดจำนวนนักดื่ม และควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ชวยให้คนมาลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และรณรงค์สื่อสารให้เห็นถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ โดยตลอด 16 ปีที่ผ่านมา สามารถช่วยลดจำนวนนักดื่มลง ช่วยเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายจากการดื่ม และลดอุบัติเหตุเสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับ เมาแล้วขับในช่วงเทศกาลดังกล่าวลงไปได้ 

"จากการสำรวจโดยสำนักบัญชีประชาชาติ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พบว่า คนไทยมีค่าใช้จ่ายครัวเรือนในการดื่มเหล้าลดลง  ขณะที่อุบัติเหตุช่วงเข้าพรรษาก็ลดลง 9% อุบัติเหตุที่สัมพันธ์กับการดื่มหรือเมาแล้วขับลดลงถึง 25% ส่วนหลายตัวที่ยังไม่อาจวัดได้ชัดเจน เช่น ความสุขในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น เรื่องของผู้คนเข้ามาอยู่ในผลิตภาพทางการงานได้ดีขึ้น ก็ต้องวิจัยต่อ แต่การงดเหล้าเข้าพรรษาปี 2562 ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) และ สสส. ศึกษาพบว่า มีผู้ร่วมงดเหล้าเข้าพรรษา 53.5% เป็นผู้งดเหล้าตลอดพรรษา 31% งดบางช่วง 22.5% โดยรวมสัดส่วนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ระบุว่า ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงดีขึ้น อีกครึ่งหนึ่งให้เหตุผลเรื่องประหยัด เฉลี่ยคนละ 1,284 บาท หากประมาณการช่วงเข้าพรรษาอาจประหยัดได้ถึง 8,251 ล้านบาท กลุ่มที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมี 5% ตั้งใจจะเลิกดื่มตลอดชีวิต" ดร.สุปรีดา กล่าว

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า นอกจากนี้ โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการต่อสู้กับน้ำเมาที่อยู่ในวัฒนธรรมและค่านิยมต่างๆ ของสังคมไทย เพราะการจะเลิกเหล้าก็ควรจะเลิกได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ในช่วง 3 เดือนของการเข้าพรรษา โดยการจะชวนให้คนเลิกดื่มไปได้ตลอดนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม ที่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการดื่ม หากเข้าไปช่วยจัดการปัจจัยเสี่ยงกระตุ้นเหล่านี้ ก็จะช่วยให้คนเลิกดื่มได้อย่างต่อเนื่องนานยิ่งขึ้น มากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องลงไปทำงานเชิงรุกในพื้นที่ชุมชน เช่น ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายอำเภอ ประชาคมหมู่บ้าน ในการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ มาช่วยจำกัดสิ่งแวดล้อม อย่าง การงดขายสุราในช่วงเทศกาลงานบุญประเพณีต่างๆ หรือการจัดงานปลอดเหล้าต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเมื่อระดับชุมชนมีความเข้าใจ เห็นถึงพิษภัยปัญหาของน้ำเมา ก็จะสามารถช่วยกันลดสิ่งแวดล้อมและปัจจัยกระตุ้นลงได้ ทำให้เกิดการเลิกดื่มได้อย่างต่อเนื่อง

สอดคล้องกับ นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ที่ระบุว่า ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนสำคัญอย่างมากกับการขับเคลื่อนแนวคิด “ออกพรรษลาเหล้า” ซึ่งเป็นการต่อยอดการรณรงค์ ให้คนที่ตั้งใจอยากลาเหล้าต่อเนื่อง หรือเลิกดื่มตลอดชีวิต โดยการสำรวจของศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาสังคมและธุรกิจ ตั้งแต่ปี 2559-2561 พบว่า มีคนอยากเลิกดื่มไปเลย 13% อยากจะลดปริมาณลง 58% แสดงให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างที่ลด ละ ในช่วงเข้าพรรษามีแนวโน้มที่จะลดละเลิกกว่า 71% จากการทำงานในช่วง 10  ปีแรก เน้นการรณรงค์สร้างการรับรู้ สร้างกระแส โดยมีการเชิญชวนขอความร่วมมือให้หน่วยงานองค์กรต่างๆ  เข้าร่วมกิจกรรมลงนามปฏิญาณตน โดยตั้งแต่ปี 2557เป็นต้นมา เป็นการชวนให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการแก้ปัญหาประเด็นเหล้า โดยสร้างแกนนำในชุมชนเป็นพี่เลี้ยง ชี้ชวนให้ตระหนักในชีวิต ครอบครัว ส่งเสริมให้กำลังใจให้งดเหล้าแล้วจะเห็นการเปลี่ยนแปลง

"สำหรับโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาปี 2562 ดำเนินการในชุมชน 892 ชุมชนทั่วประเทศ มีผู้ที่ดื่มร่วมงดเหล้ารวม 34,432 คน มีนายอำเภอนักรณรงค์ร่วมขับเคลื่อนนโยบายงดเหล้า (บุหรี่) 130 อำเภอ และมีโรงงานอุตสาหกรรมเข้าร่วม 150 แห่ง ธนาคาร ธกส. ทุกสาขาทั่วประเทศ 1,280 แห่ง ทั้งนี้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์และได้เชิญชวนพนักงานลดละเลิกเหล้า บุหรี่ในช่วงเข้าพรรษานี้ด้วย ปัจจุบันเครือข่ายฯ ได้วางแนวทางการทำงานในช่วงออกพรรษาอีก 9 เดือน คือ จัดตั้งชมรมคนหัวใจเพชรขึ้นตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา มีอยู่ 116 ชมรมทั่วประเทศ มีสมาชิกชมรมกว่า 7,500 คน ที่จะเป็นผู้อาสาชวนคนงดเหล้าต่อเนื่องตลอดทั้งปี" นายธีระ กล่าว

สำหรับตัวอย่างชุมชนคนสู้เหล้าที่ช่วยขับเคลื่อนแนวคิดออกพรรษาลาเหล้าเป็นจริงได้ เช่น อ.อุทุพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ที่อาศัยนายอำเภอมาช่วยขับเคลื่อนงานจนประสบความสำเร็จ

นายสุริยา บุตรจินดา นายอำเภออุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ นายอำเภอนักรณรงค์ กล่าวว่า หน้าที่สำคัญของนายอำเภอคือการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน สาเหตุสำคัญที่สร้างความทุกข์ให้แก่ประชาชนคือเหล้า จึงมีแนวคิดว่าถ้าทำให้การเลี้ยงเหล้าในงานศพและงานบุญ-ประเพณีต่างๆ ลดลงได้  ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะลดตามไปด้วย จึงเริ่มทำงานงดเหล้าจริงจังเมื่อปี 2558 โดยเริ่มต้นที่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ  แม้จะย้ายพื้นที่ทำงานก็ยังคงทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง  โดยจุดแตกหักคือระดับหมู่บ้านที่ต้องมีกติกาและมาตรการของตนเอง  โดยจัดเวทีประชาคมงานศพปลอดเหล้า ปลอดการพนัน ขยายไปงานบุญประเพณีปลอดเหล้า และรณรงค์งดเหล้าครบพรรษา ซึ่งแม้หลายคนจะเริ่มจาก ลด ละ ได้ก่อนก็ถือเป็นเรื่องดี พอทำไปเรื่อยๆ นอกจากจะได้ช่วยเหลือเจ้าภาพให้ลดค่าใช้จ่ายแล้ว ปัญหาเรื่องความวุ่นวาย การทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับก็ลดลงเป็นเงาตามตัวเช่นกัน

ขณะที่ ต.ชอนสมบูรณ์ อ.หนองม่วง จ.ลพบุรี โดดเด่นในเรื่องของ "พระสงฆ์" ที่มีบทบาทเป็นนักรณรงค์ไม่งดเหล้าเข้าพรรษา ไม่ทำผิดศีลข้อที่ 5 โดย พระครูใบฎีกาทรงพล ชยนฺนโท เจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนารามชอนสมบูรณ์ ซึ่งรับรางวัลพระสงฆ์นักรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาเมื่อปี 2558 ระบุว่า ในการส่งเสริมการงดเหล้าเข้าพรรษา ได้ใช้กลวิธีคือเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดื่มได้เปิดอกพูดคุยกันว่า ทำไมเขาถึงต้องดื่ม เพื่อนำมาสู่การช่วยกันปรับพฤติกรรม แก้ไขปัญหา ลดละเลิก เป็นโอกาสในการปรับตัวปรับใจ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมด้วยนโยบายหมู่บ้านรักษาศีล 5 นำเครือข่ายพระสงฆ์สู่การพัฒนานโยบายสาธารณะพัฒนาสุขภาวะชุมชน "ศีล 5 นำพาสุขภาพดี ลพบุรีเมืองสะอาด" ขยายสู่พื้นที่ต่างๆ ในจ.ลพบุรี เช่น ต.กุดดาเพชร งดเหล้าเข้าพรรษาสู่งานประเพณี "งานศพปลอดเหล้า" ต.ดีลัง ต.หนองกระเบียน และ ต.มะกอหวาน ซึ่งล้วนแต่มีพระสงฆ์เป็นแกนนำ

อีกหนึ่งตัวอย่างที่เรียกว่าสำคัญที่สุดในการช่วยเลิกเหล้า คือ คนในครอบครัว ซึ่งที่ผ่านมา สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย ผนึกร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการทำโครงการพระโพธิสัตว์น้อย ด้วยการให้นักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สมัครเข้ามา ด้วยการเขียนจดหมายน้อยสื่อรักจากลูกถึงพ่อแม่ที่ดื่มเหล้า เพื่อขอให้ลดละเลิกการดื่ม

นายบุญมา นุชอิ่ม พ่อผู้เลิกเหล้าเพราะความรักลูกจากโครการดังกล่าว ระบุว่า ตนเองดื่มเหล้ามานาน ยังไม่เคยงดเหล้าเข้าพรรษา เพราะคิดว่าเป็นกิจของพระสงฆ์ แต่ปีนี้มีกิจกรรมดังกล่าวของโรงเรียน ซึ่งลูกเขียนจดหมายมาว่า พ่อ ถ้าเกิดหยุดเหล้าเนี่ย ตับจะดีขึ้น ร่างกายจะแข็งแรงขึ้น จะได้อยู่กับหนูนานๆ และลูกมาขอร้องให้เลิกเหล้า ลูกบอกว่า พ่อ ต้องทำให้ได้นะ ครูสั่งมา ดังนั้นปีนี้เลยตั้งใจจะหยุดโดยทำเพื่อลูก และทำเพื่อโรงเรียนที่ขอมา ซึ่งปกติก่อนเข้าพรรษาดื่มกันทุกวัน แชร์เงินกับเพื่อนๆ ปัจจุบันนี้หยุดแล้ว และตั้งใจว่าจะหยุดดื่มไปเรื่อยๆ ซึ่งหยุดแล้วก็ดี มีเงินเก็บ มีเวลาให้ลูก ได้อยู่กับครอบครัว พักผ่อนได้เต็มที่ เวลาตื่นขึ้นมาไปทำงานก็สดชื่น ไม่มีอาการง่วงหรือเพลียอะไร

ขณะที่ ด.ช.วรวิช นุชอิ่ม หรือน้องไบรท์ นร.ชั้นป. 1 ร.ร.คลองใหม่ จ.สมุทรปราการ บอกว่า ดีใจที่พ่อเลิกดื่มเหล้า ถ้าพ่อไม่กินเหล้า จะใจดี ไม่ดุ ไม่ว่า เมื่อพ่อเลิกกินเหล้าแล้ว พ่อจะได้มาเล่นเกมด้วยกันกับตน และเมื่อสุขภาพพ่อดีขึ้น ก็จะได้อยู่กับตนไปนานๆ

นายธีระ ยังทิ้งท้ายด้วยว่า คนกินเหล้ายังมารวมตัวกันได้ คนที่เลิกเหล้าอยากทำดีก็สามารถมารวมตัวกันได้เช่นกัน เพื่อมารวมตัวกันเป็นชมรม เป็นชุมชนที่ช่วยกันขับเคลื่อนลดปัจจัยกระตุ้นการดื่มเหล้า ซึ่งขณะนี้มีแล้วกว่า 116 แห่ง 892 ชุมชน และมีความแข็งแรงที่สามารถดูแลตนเอง ของบประมาณจากกองทุนสุขภาพตำบลมาจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการลดละเลิก

ยิ่งรุกงานลงพื้นที่ชุมชนมากเท่าไร สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนมากเท่าไร โอกาสในการขับเคลื่อนลดละเลิกเหล้าก็ยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น