โครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยากลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนถึงโครงการนี้เมื่อ 3-4 ปีมาแล้ว จนกระทั่งเงียบหายไปและคิดว่าจะเลิกล้มไปแล้ว เพราะถูกประชาชนต่อต้านเพราะมองเห็นด้านของความอัปลักษณ์มากกว่าความสวยงาม
หลังการรัฐประหารเพียง 2 วันโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาถูกหยิบขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วนบรรจุในแผนพัฒนาประเทศแบบบูรณาการราวกับว่ารัฐประหารเพื่อการนี้เลยก็ว่าได้
จนกระทั่งวันที่ 12 พ.ค. 2558 ครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแผนงานก่อสร้างถนนเลียบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทาง 2 ฝั่งๆ ละ 7 กิโลเมตรรวม 14 กิโลเมตรตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระปิ่นเกล้าวงเงิน 14,006 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังให้กรมที่ดินรังวัดและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้พื้นที่เขตของโครงการ และให้กรมทางหลวงชนบทขอใช้พื้นที่สะพานพระราม 7 สะพานกรุงธนและสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าสำหรับกรุงเทพมหานครให้ดำเนินการในส่วนท่าเรือสาธารณะและท่าเรือเอกชนในการรื้อถอนย้ายสร้างใหม่และค่าชดเชย และให้กระทรวงมหาดไทยขอพระราชทานอนุญาตก่อสร้างโครงการผ่านสำนักพระราชวังวังศุโขทัย ท่าเทเวศร์ และท่าวาสุกรี
ว่ากันว่าพล.อ.ประยุทธ์เอาแรงบันดาลใจมาจาก “ชองกเยชอนโมเดล” ริมแม่น้ำฮันใจกลางกรุงโซลของเกาหลีใต้
โดยตลอดระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตรจะสร้างตอม่อลงไปในน้ำตลอดเส้นทางโดยยกสูงจากผิวน้ำประมาณ 2 เมตร ประกอบด้วยทางเดินติดริมแม่น้ำกว้าง 7 เมตรสวนหย่อม 3 เมตร ทางจักรยานกว้าง 7 เมตร ทางเท้า-บันได 2.50 เมตร ส่วนคอนกรีตที่ยื่นลงไปในแม่น้ำข้างละ 20 เมตรโครงการนี้เป็นเพียงเฟสแรกเพราะในแผนการที่ผ่านความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีไปแล้วนั้นระบุว่า การก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 2 ฝั่งจะมีระยะทางรวมกัน 50 กิโลเมตร (ฝั่งละ 25 กิโลเมตร) เริ่มจากสะพานพระราม 3 สิ้นสุดที่สะพานพระนั่งเกล้าด้วยงบก่อสร้าง 30,000 ล้านบาท
โครงการนี้ถูกคัดค้านอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะภาคีพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา (พพพ.) นำโดยผังเมืองจุฬาฯ ผังเมืองธรรมศาสตร์ ผังเมืองเกษตรศาสตร์ ผังเมืองศิลปากรแถลงการณ์ 4 ข้อคัดค้านระบุถึงผลกระทบด้านลบของโครงการต่อสิ่งแวดล้อมนิเวศวิทยาและภูมิทัศน์วัฒนธรรมของพื้นที่ริมน้ำ เสริมด้วยข้อมูลว่าการออกแบบยังขาดความเชื่อมโยงกับโครงข่ายการสัญจรของเมืองและภูมิสัณฐานของตลิ่ง โดยขอให้มีการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะเพื่อให้โครงการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้นำไปสู่การสร้างความเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกัน แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่รับฟังเสียงท้วงติงยังคงเดินหน้าต่อไป
ศ.ดร.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีถึงกับบอกว่าโครงการลักษณะนี้เป็นความคิดที่เลวทำลายชีวิตของผู้คนริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้หมดสิ้น
“หากโครงการนี้เป็นโครงการที่รัฐบาล คสช.จะทำก็เรียกได้ว่าเป็นอนันตริยกรรมและเป็นโครงการที่จะทำลายชาวบ้านชาวเมืองนับไม่ถ้วน เป็นโครงการที่ทำลายรากเหง้าประวัติศาสตร์แม้แต่จะคิดก็ไม่ควรคิดด้วยซ้ำ” ศ.ดร.ศรีศักรกล่าว
ล่าสุดมีการอ้างว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีความคืบหน้าเป็นไปตามกำหนด ทั้งในด้านการศึกษาแผนแม่บทการจัดทำแบบรายละเอียดโดยที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่าในการปรับปรุงรูปแบบก่อสร้างไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยในการดำเนินการได้เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคสังคมมีการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชุมชนในหลายช่องทาง ทั้งการพบปะกับชุมชนโดยตรงและการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ทำให้สามารถสร้างความเข้าใจที่รอบด้านแก่ประชาชนและสังคมจนได้รับความร่วมมือดีขึ้นเป็นลำดับ
คำถามว่า สิ่งที่อ้างนั้นไปกระทำกันตอนไหนอย่างไร และที่อ้างว่าการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อทำให้ประชาชนเข้าใจนั้นกระทำกันตอนไหนสื่อไหน เพราะเรื่องนี้เงียบหายไปพักใหญ่แล้ว และได้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไปแล้วหรือยัง หรือถ้าทำแล้วประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำได้มีส่วนร่วมหรือไม่อย่างไร
ถามว่า ทำไมต้องสร้างถนนลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา และสร้างเป็นทางยาวถึงด้านละ 25 กิโลเมตร แม้จะบอกว่าให้ประชาชนเดินวิ่งออกกำลังกาย ถีบจักรยานไม่ได้ให้รถวิ่ง แต่คิดดูว่า ความกว้างด้านละ 10 เมตรทั้งสองฝั่ง ความกว้างของแม่น้ำจะเหลือเท่าไหร่ และสภาพแวดล้อมริมแม่น้ำก็จะกลายเป็นสภาพที่ถอยร่นออกจากแม่น้ำไป เพราะมีถนนมากั้น
และถามหน่อยว่า จะมีคนสักกี่คนลงมาเดินตลอด 25 กิโลเมตร แต่ถ้าจะสร้างสถานที่ออกกำลังกาย จำเป็นต้องสร้างยาวตลอด 2 ฝั่งอย่างนั้นไหม เราเลือกสร้างเป็นจุดๆ ที่ไม่ทำลายทัศนวิสัยริมน้ำ และทำลายวิถีของชุมชนริมน้ำสัก 500 เมตรในพื้นที่ที่เหมาะสมเป็นจุดๆ ไปให้สวยงามไม่ใช่เป็นแท่นถนนอย่างที่คิดกันจะได้ไหม
การอ้างว่า หลายประเทศมีทางเดินริมแม่น้ำ แต่เขาใช้พื้นที่ริมฝั่งใช่ไหม มีใครบ้างที่สร้างถนนลงไปแม่น้ำแบบที่เรากำลังทำ หรือถ้ามีมีใครบ้างขนาดจะทำสองฝั่งๆละ 25 กิโลเมตรไหม ถ้าอ้างว่าจะทำสถานที่ให้ประชาชนออกกำลังกาย เราไม่ใช่เมืองแบบสิงคโปร์ เพราะกทม.และรัฐมีสถานที่มากมายที่จะทำได้ รวมถึงพื้นที่มักกะสันที่รัฐบาลไปให้ประชาชนประมูลทำศูนย์การค้า ซึ่งสะท้อนเจตนารมณ์เพื่อสร้างสถานที่ให้ประชาชนออกกำลังกายนั้นไม่มีอยู่จริง
อย่าหลงประเด็นว่า โครงการนี้เป็นความต้องการของพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. แต่จริงๆ แล้ว ฝ่ายที่ต้องการให้สร้างโครงการและผลักดันนี้คือพล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นแม้หลายฝ่ายจะไปยื่นคัดค้านต่อพล.อ.ประยุทธ์ก็เชื่อได้เลยว่า จะไม่ได้รับการตอบสนองและรัฐบาลจะต้องผลักดันโครงการนี้ให้เดินหน้าต่อไปโดยมี กทม.เป็นแม่งานบังหน้า
น่าคิดว่า กทม.เดินหน้าผลักดันโครงการนี้อีกครั้ง เพื่อพยายามจะปักมุดให้ได้ก่อนช่วงสั้น 2-3 กิโลเมตรจากสะพานพระราม 7 ไปกรมชลประทาน หลังจากนี้แม้จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กันใหม่ ใครจะมาเป็นต่อก็ต้องถูกบีบให้เดินหน้าโครงการไปจนจบสิ้นฝั่งละ 25 กิโลเมตร ทำให้เกิดคำถามว่า เมื่อจะเลือกตั้งกันใหม่แล้ว ทำไมไม่รอให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และประชาชนจะได้ตัดสินใจว่าจะเลือกผู้ว่าฯ กทม.คนไหน
ผมคิดว่าสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีความสวยงามในตัวของมัน แม้หลายพื้นที่จะมีสภาพเป็นชุมชนที่ไม่ได้ดูเริดหรูหลังคามุงสังกะสี ฝาบ้านเป็นไม้ผุพัง แต่นั่นเป็นวิถีชีวิตของเขา ถ้ารัฐบาลจะเปิดพื้นที่ริมน้ำก็น่าจะเริ่มจากสถานที่ราชการที่ตั้งอยู่ริมน้ำให้ประชาชนเข้าไปใช้สอย แต่ถ้าจะใช้สถานที่ที่ประชาชนบุกรุก รัฐบาลและกทม.ก็จัดสรรที่อยู่ให้พวกเขาใหม่ แล้วเปิดพื้นที่ตรงนั้นให้ประชาชนเข้าถึง ไม่ใช่ลงไปสร้างถนนในแม่น้ำที่เป็นความคิดวิตถารแบบนี้
นี่ต่างหากที่เป็นการเปิดพื้นที่ริมแม่น้ำที่รัฐพึงทำ เหมือนที่เราไปดูประเทศอื่นมาแล้วอยากกลับมาทำในบ้านเราให้ประชาชนมีสถานที่พักผ่อนออกกำลังกายริมน้ำ และทำให้พื้นที่ริมน้ำกลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใช้สอยร่วมกันได้
ผมหลับตานึกว่าถ้าถนนในแม่น้ำสองฝั่งถูกสร้างลงไปในแม่น้ำตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพุทธ ความสวยงามของอาคารบ้านเรือน ชุมชน วัดวาสองฝั่งจะหายไปทันที เพราะเราจะเอาแท่นคอนกรีตมาขวางกั้นแทน
ไม่ว่าการพยายามจะสร้างถนนลงไปสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีแรงบันดาลมาจากไหน แต่ผมมองว่าคนที่มีความคิดวิปริตวิตถารเท่านั้นที่จะทำแบบนี้ได้
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan