เปิดสถิติอุบัติเหตุ 4 ปี เจ็บ 2.65 แสนราย ตาย 1.3 หมื่นราย จ่ายค่ารักษากว่า 6 พันล้านบาท แนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ชี้คนเดินเท้าโอกาสตายสูงกว่าคนขัย ขณะที่อัตราตายเพิ่มสูงขึ้นตามวัย ส่วนคนขี่มอเตอร์ไซค์เจ็บตายสูงสุด
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีอุบัติเหตุบนถนนสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก เมื่อพิจารณาจากข้อมูลการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุการขนส่งทางบกที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และสิทธิสวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระหว่างปี 2558-2561 รวม 4 ปี พบว่า มีผู้บาดเจ็บ 265,243 ราย เสียชีวิต 13,861 ราย ค่ารักษากว่า 6,015 ล้านบาท โดยแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี คือ ปี 2558 บาดเจ็บ 62,773 ราย เสียชีวิต 3,509 ราย ค่ารักษา 1,308 ล้านบาท ปี 2559 บาดเจ็บ 63,981 ราย เสียชีวิต 3,486 ราย ค่ารักษา 1,534 ล้านบาท ปี 2560 บาดเจ็บ 67,517 ราย เสียชีวิต 3,440 ราย ค่ารักษา 1,529 ล้านบาท และ ปี 2561 บาดเจ็บ 70,972 ราย เสียชีวิต 3,426 ราย ค่ารักษา 1,644 ล้านบาท
"จากข้อมูลพบว่า มีประชาชนคนเดินเท้าได้รับบาดเจ็บ 10,672 ราย เสียชีวิต 916 ราย คิดเป็น 8.6% ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ นับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในหมวดอุบัติเหตุ เมื่อเทียบเคียงระหว่างการบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยมีสัดส่วนการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ขับขี่ โดยผู้ขับขี่ ได้รับบาดเจ็บ 215,794 ราย เสียชีวิต 10,752 ราย คิดเป็น 4.98% ของผู้ที่ได้บาดเจ็บ ที่น่าห่วงคือเมื่อเกิดการบาดเจ็บ ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี มีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่าทุกช่วงวัย และอัตราการเสียชีวิตจะลดหลั่นลงมาตามลำดับช่วงอายุ" นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สำหรับกลุ่มผู้ที่มีจำนวนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุดในหมวดอุบัติเหตุ ได้แก่ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ บาดเจ็บ 210,963 ราย เสียชีวิต 11,177 ราย คิดเป็น 5.3% ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ รองลงมา คือ ผู้ที่ใช้จักรยาน บาดเจ็บ 28,728 ราย เสียชีวิต 608 ราย คิดเป็น 2.1 ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ส่วนประเภทการชนนั้น อันดับหนึ่ง คือ ขับขี่ล้มหรือ