สธ.จับมือดีอี พัฒนาระบบ Big Data เชื่อมฐานข้อมูลผู้ป่วย รพ. สิทธิบัตรทอง ทั้งประเทศ พร้อมขอไปรษณีย์ไทยช่วยส่งยาให้ร้านขายยา รองรับนโยบายรับยาใกล้บ้าน
วันนี้ (31 ต.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.)
นายอนุทิน กล่าวว่า การร่วมมือกับดีอี เป็นก้าวแรกในการพัฒนาระบบข้อมูล และเป็นต้นแบบให้หน่วยงานอื่นๆ ด้วย ซึ่งข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญเมื่อเชื่อมโยงกันทั้งประเทศ ทำให้แพทย์รู้ว่าผู้ป่วยรายนี้ป่วยเป็นอะไร ให้ยาอะไรอยู่ รักษาอะไรมาบ้าง ทำให้ภาระของแพทย์ลดลง และขณะนี้ สธ. และสปสช. มีนโยบายให้ผู้ป่วยรับยาใกล้บ้านผ่านร้านขายยา หากเป็นไปได้อยากขอให้นายพุทธิพงษ์ ซึ่งดูแลไปรษณีย์ไทย ช่วยทำหน้าที่ในการส่งยาไปถึงร้านขายยา เพื่อทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยามากขึ้น ทั้งนี้ มาตรการเหล่านี้ นอกจากจะช่วยลดค่ารักษาแล้ว ยังช่วยลดจำนวนผู้มา รพ. ลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นอีกด้วย เช่น ค่าเดินทาง หรือแม้แต่ค่าน้ำ ค่าไฟ เพราะคนมารพ. 6 คน เข้าห้องน้ำก็กดชักโครกไป 6 ครั้งแล้ว
“ขอให้ความมั่นใจว่า สธ.และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่ผมดูแลอยู่ พร้อมผลักดันเรื่องการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเต็มที่ เพราะของมีอยู่แล้ว เหลือแค่นำไปใช้เกิดประโยชน์เท่านั้น ซึ่งการร่วมมือกับดีอีก็จะเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไปด้วยกัน ไม่มีแบ่งพรรค ไม่มีพวก มีแต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะทำเพื่อบ้านเมือง” นายอนุทิน กล่าว
ด้านนายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า สิ่งที่ตนอยากทำให้สำเร็จภายในปี 2563 คือการรวมฐานข้อมูลของ สธ. และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ให้แล้วเสร็จ เพื่อทุกฝ่ายใช้วางแผนพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งนายอนุทินดูแลทั้ง 2 กระทรวงอยู่แล้ว ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทราบว่า สธ.มีการจัดทำฐานข้อมูลเอาไว้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีการรวมเป็นฐานข้อมูลเดียว รพ.แต่ละแห่งต่างมีฐานข้อมูลผู้ป่วยเป็นของตัวเอง ทำให้ผู้ป่วยถ้าไปรักษา 10 รพ. ก็จะมีบัตรผู้ป่วย 10 ใบ ดังนั้น วันนี้หากเชื่อมโยงฐานข้อมูลกันแล้วผู้ป่วยไม่ต้องถือบัตร 10 ใบแล้ว ใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียวเท่านั้น และไม่ต้องกังวลว่าจะถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ เพราะข้อมูลนี้จะถูกเก็บไว้ที่คลาวด์ แพทย์ หรือเจ้าหน้าที่รพ.ไม่สามารถเปิดได้ คนที่เปิดข้อมูลได้มีเพียงคนเดียว คือ ผู้ป่วยเจ้าของข้อมูล เพราะการเปิดดูข้อมูลจะใช้บัตรประชาชน นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังช่วยเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย และตนยังมีแนวคิดให้ไปรษณีย์ฯ ช่วยรพ.ในการส่งยาให้ผู้ป่วยด้วยในโรคที่ต้องรักษาขั้นพื้นฐาน
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า การดำเนินงานบัตรทอง 17 ปีที่ผ่านมา สปสช.จัดเก็บข้อมูลการใช้บริการผู้ป่วยในกว่า 100 ล้านข้อมูล ผู้ป่วยนอกอีกกว่า 200 ล้านข้อมูล และยังมีฐานข้อมูลผู้ป่วยรายบุคคล ซึ่ง สปสช.เคยเชื่อมโยงฐานข้อมูลสิทธิการรักษา และสวัสดิการสังคม ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จนสามารถตรวจสิทธิ์ผ่านบัตรประชาชนใบเดียวไปแล้ว และกำลังจะพัฒนาการเชื่อมข้อมูลกับสภากาชาดไทยเรื่องสิทธิการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ใหญ่มาก หากได้เทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการข้อมูลที่ดี สามารถวิเคราะห์และพยากรณ์ทิศทางสุขภาพที่แม่นยำขึ้นก็จะทำให้การพัฒนาสิทธิประโยชน์บัตรทอง และระบบดูแลสุขภาพของประเทศทำได้เต็มศักยภาพ