อย.เผยหลังแบน “ไขมันทรานส์” 9 ม.ค. 62 ลงตรวจเข้ม “ผู้ผลิตน้ำมัน” ห้ามเติมไฮโดรเจนบางส่วน จี้แสดงสูตรอาหารไร้น้ำมันเติมไฮโดรเจน พร้อมสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์เสี่ยง เตือนอย่าฉวยโอกาสโฆษณาปลอดไขมันทรานส์ 0% เตรียมตรวจสอบด้วยเช่นกัน หวั่นโอ้อวดเกินจริง สถาบันโภชนาการ ย้ำ แม้ไร้ไขมันทรานส์ แต่มีโอกาสรับไขมันอิ่มตัวสูง เผยสุ่มตรวจอาหารเจอไขมันอิ่มตัวสูงกว่าเกณฑ์มากกว่าไขมันทรานส์
วันนี้ (24 ก.ค.) ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. น.ส.สุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าว “ความจริงไขมันทรานส์” ว่า หลังจาก อย.ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ทำให้เกิดไขมันทรานส์ขึ้น โดยมีผลวันที่ 9 ม.ค. 2562 นั้น ไม่อยากให้ประชาชนเกิดความตระหนกเกินไป ยืนยันว่า น้ำมันที่ใช้ตามบ้าน ทั้งน้ำมันปาล์ม และน้ำมันพืช ยังสามารถใช้ได้ตามปกติ ส่วนข้อกังวลว่า หลังการบังคับใช้กฎหมาย จะมีการเติมสารไฮโดรเจนบางส่วนลงในน้ำมันหรือมีการผลิตอาหารโดยใช้น้ำมันที่เติมไฮโดรเจนนั้น ปัจจุบันมีผู้ผลิตน้ำมันในประเทศเพียง 3 ราย ก็จะตรวจสอบว่ามีการเติมลงไปหรือไม่ ส่วนน้ำมันและอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศ ก็ต้องแสดงให้เห็นว่าไม่มีการใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และในการขออนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร อย.ก็จะตรวจสอบว่าสูตรในการผลิตไม่มีการใช้น้ำมันที่เติมไฮโดรเจนบางส่วน โดยจะมีการสุ่มลงไปตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารที่มีความเสี่ยงด้วย
น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า ที่น่ากังวล คือ ขณะนี้มีผู้ประกอบการบางรายใช้โอกาสนี้โฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์ปลอดไขมันทรานส์ หรือไขมันทรานส์ 0% ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน จึงขอให้ใช้ข้อความว่า “ปราศจาก/ไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์” และแสดงปริมาณไขมันทรานส์ได้เฉพาะในกรอบโภชนาการแบบเต็มร่วมกับการแสดงส่วนประกอบอื่นๆ เท่านั้น โดยให้แสดงไว้ที่ตำแหน่งใต้ไขมันอิ่มตัว และใช้หลักเกณฑ์เดียวกับไขมันอิ่มตัว และเพื่อให้เป็นธรรม อย.จะมีการตรวจสอบว่าข้อความดังกล่าวเป็นจริง โดยการส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ ซึ่งต้องไม่เจอจริงๆ ถึงจะไม่เป็นการโอ้อวด ในกรณีฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันบาท ถึง 2 หมื่นบาท
รศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ อาจารย์สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวล คือ ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการระบุหน้าซองว่า ไขมันทรานส์ 0% เกรงว่า จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดว่า อาหารชนิดนั้นบริโภคได้มาก ไม่มีไขมันทรานส์ แต่ที่จริงยังมีไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูงไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก อย่างไรก็ตาม ไขมันทรานส์ยังสามารถพบได้ในอาหารตามธรรมชาติ แต่พบเป็นจำนวนน้อย โดยปริมาณไขมันทรานส์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ คือ จะต้องไม่เกิน 1% ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมด ซึ่งวันหนึ่งควรได้รับพลังงาน 2,000 แคลอรี ดังนั้น ใน 1 วัน ต้องได้รับเพียง 2 กรัม หรือ 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ทั้งนี้ สถาบันโภชนาการได้สุ่มสำรวจการปนเปื้อนไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหารจำนวน 162 ตัวอย่าง พิจารณาจากปริมาณไขมันทรานส์ที่ WHO แนะนำ พบว่า ไขมันอิ่มตัวสูงกว่าเกณฑ์ 53% ไขมันทรานส์สูงกว่าเกณฑ์ 13% และมีไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าเกณฑ์ 34% สรุปว่า พบการปนเปื้อนไขมันทรานส์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับไขมันอิ่มตัว สะท้อนว่า แม้ไขมันทรานส์จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าไขมันอิ่มตัว แต่การได้รับไขมันทรานส์ในวิถีชีวิตประจำวันของคนไทยน้อยกว่าการรับไขมันอิ่มตัว ซึ่งการแก้ปัญหาของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไปตามบริบทการกินอาหาร ซึ่งหลายประเทศแก้ปัญหาด้วยการแบนไขมันทรานส์ แต่ประเทศไทยก็ไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับความเสี่ยง จึงต้องมีการออกเป็นกฎหมาย ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนตระหนักในเรื่องของการรับประทานอาหารโดยการปรับเปลี่ยนรับประทานอาหารที่หลากหลาย และอย่าตื่นตระหนกจนเกินไป
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ขณะนี้สังคมยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับไขมันทรานส์ และเกิดความตื่นตระหนกในการบริโภค สสส.จึงร่วมกับ อย. สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดทำสื่อความรู้ที่เข้าใจง่ายและถูกต้องทางวิชาการเรื่อง “ความจริงไขมันทรานส์” เพื่อสื่อสารความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริโภค อาทิ อาหารที่มีส่วนผสมของเนยขาว เนยเทียม เป็นส่วนประกอบผู้บริโภคสามารถรับประทานได้ตามปกติในปริมาณที่เหมาะสม เพราะผู้ประกอบการได้ปรับสูตรและกระบวนการผลิตของเนยขาวและเนยเทียมที่ไม่ทำให้เกิดไขมันทรานส์แล้ว
นพ.ฆนัท ครุฑกุล เครือข่ายคนไทยไร้พุง แพทย์ผู้เชียวชาญด้านหัวใจและโภชนาการวิทยาคลินิก โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า กล่าวว่า ไขมันทรานส์จะไปเพิ่มไขมันตัวร้ายและลดไขมันดี มีผลต่อสุขภาพในเรื่องหัวใจและหลอดเลือด และเพิ่มความเสี่ยงในเรื่องความจำเสื่อม เบาหวาน และมะเร็งบางชนิด และภาวะโรคอ้วนได้มากขึ้น แต่ในการได้รับไขมันทรานส์จากอาหารตามธรรมชาติไม่ต้องกังวล เพราะไขมันทรานส์จำนวนมากๆนั้นเกิดจากกระบวนการทางอุตสาหกรรม โดยขณะนี้ที่ประชาชนเกิดความกังวลว่าการทอดซ้ำจะเกิดไขมันทรานส์หรือไม่นั้น การทอดซ้ำนั้นไม่ได้มีการเติมไฮโดรเจนบางส่วน แต่กระบวนการสามารถทำให้เกิดได้แต่ไม่มาก ซึ่งควรจะไปกังวลในเรื่องไฮโดรคาร์บอนที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งมากกว่า ทั้งนี้ ไขมันทรานนส์เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือของหลายภาคส่วนเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี แต่ประชาชนก็ไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะการที่จะมีสุขภาพที่ดีนั้นต้องมาจากการปรับชีวิต การกินอาหารที่มีประโยชน์ โดยการกินอาหารที่มีประโยชน์ การลดอาหารทอด อาหารมัน กินเค้ก กินขนมได้ แต่ในปริมาณที่น้อยลง อย่าวิตกกังวลมากเกินไป ก็จะทำให้สุขภาพดีขึ้น