อย.ลั่น ม.ค. 62 ประเทศไทยไม่มี “ไขมันทรานส์” ในอาหารทั้งที่ผลิตเองและนำเข้า หลังออกประกาศห้ามชัดเจน เชื่อช่วยคนไทยห่างไกลโรคหัวใจมากขึ้น แนะระหว่างนี้ให้เลี่ยงอาหารหวานมันเค็ม ที่ใช้ไขมันทรานส์ในการผลิต
วันนี้ (16 ก.ค.) นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอารและยา (อย.) กล่าวถึงการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนหรือไขมันทรานส์ และอาหารที่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยมีผลบังคับใช้ใน 180 วัน ว่า ไขมันทรานส์เป็นไขมันประเภทอิ่มตัว มักใช้กับอาหารกลุ่มของทอด เช่น โดนัท พัฟฟ์ พาย เป็นต้น โดยมีการเอามาใช้ในทางอุตสาหกรรม เพราะทำให้กลิ่นหืนหายไป และเก็บอาหารได้นานขึ้น แต่ภายหลังมีข้อมูลว่า เมื่อรับประทานไปนานๆ จะเกิดการสะสมและเพิ่มความเสี่ยงเรื่องโรคหัวใจ ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีการยกเลิกไม่ใช้ใช้ไขมันทรานส์ไปแล้ว
นพ.วันชัย กล่าวว่า ส่วนในประเทศไทย ที่ผ่านมา อย.ได้หารือร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์ด้านโภชนาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากไขมันทรานส์ เพื่อวางแผนยกเลิกการใช้ไขมันทรานส์ในกระบวนการผลิตอาหารมา 2-3 ปีแล้ว หลังจากที่มีการหารือกับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมการผลิตอาหารจนลงตัว โดยทางผู้ผลิตขอเวลาประมาณ 6 เดือนในการปรับตัวเพื่อยกเลิกการผลิตที่มีการใช้ไขมันทรานส์นั้น จึงได้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2561 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วันที่ประกาศ ซึ่งก็คือ 6 เดือน โดยจะเริ่มได้ในช่วงปีหน้าคือ ม.ค. 2562 ประเทศไทยจะไม่มีการการใช้ไขมันทรานส์ในการผลิตอาหารอีก เพื่อเป็นการคุ้มครองสุขภาพประชาชน และน่าจะลดเรื่องโรคหัวใจในคนไทยลงไปได้จำนวนมาก
“เชื่อว่า ผู้ประกอบการบางส่วนมีการเตรียมตัวมานานแล้ว บางรายอาจใช้เวลา 3-4 เดือน ก็สามารถเปลี่ยนการผลิตโดยไม่ใช้ไขมนัทรานส์ได้ ส่วนระหว่างนี้ก็ขอให้ประชาชนเลี่ยงอาหารประเภทหวานมาก มันมาก เค็มมาก เพื่อหลีกเลี่ยงการรับไขมันทรานส์ และเป้นการบริโภคตามหลักของสุขภาพ ส่วนตั้งแต่ ม.ค. 2562 เป็นต้นไป ก็ไม่จำเป็นต้องมาดูฉลากว่ามีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบหรือไม่ เพราะเราห้ามทั้งหมดทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า ต้องไม่มีการใช้ไขมันทราส์เป็นส่วนประกอบอีกต่อไป” นพ.วันชัย กล่าว