อาจารย์โภชนาการ เผย ผลิตภัณฑ์ในไทย 99% ปลอดไขมันทรานส์ เนยขาว มาการีน ในท้องตลาดไม่มีการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ย้ำไทยออกกฎหมายห้ามไขมันทรานส์ หวังป้องกันผลิตภัณฑ์จากต่างชาติที่ถูกกฎหมายห้ามเช่นกันไหลเข้ามาในไทย ห่วงคนไทยเป็นโรคหัวใจจากไขมันอิ่มตัวมากกว่า
วันนี้ (23 ก.ค.) ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าวิจัยโครงการประเทศไทยปลอดไขมันทรานส์ กล่าวถึงความตื่นตัวของสังคมไทยหลังการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน หรือไขมันทรานส์ และอาหารที่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ ว่า ประเทศไทยรับอิทธิพลการทำเบเกอรีเข้ามาระยะเวลาหนึ่ง หลักๆ คือ พัพ พาย โดนัท บางส่วนนำเอาสูตรทั้งหมดจากตะวันตกเข้ามา หนึ่งในนั้น คือ การใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งทำให้เกิดไขมันทรานส์ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ประเทศไทยขอความร่วมมือผู้ประกอบการผลิตน้ำมัน และมีการปรับสูตรผลิตน้ำมันโดยไม่มีการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเข้าไปแล้ว แต่มีผู้ผลิตเบเกอรีเจ้าใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า ที่มาขอให้ผลิตน้ำมันดังกล่าวให้ แต่หลังกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้แล้วก็จะไม่มีในท้องตลาด สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มเนยขาว มาการีนต่างๆ ที่วางขายในท้องตลาดของไทยที่ประชาชนกังวลกันอยู่นั้น ขอย้ำว่ามีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไม่มีการเติมไฮโดรเจนบางส่วน
“ผลิตภัณฑ์ที่พบไขมันทรานส์ในท้องตลาดไทยขณะนี้ สัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 1 ส่วนอีกร้อยละ 99 ปลอดภัย ที่จริงแล้วไขมันที่ทำให้คนไทยป่วยเป็นโรคหัวใจหลอดเลือด พบว่า เป็นไขมันอิ่มตัว เพราะเรารับประทานไขมันอิ่มตัวกันมากกว่า ไขมันทรานส์นั้นเป็นส่วนน้อยมากๆ แต่ที่เราต้องออกกฎหมายมาเพื่อห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายไขมันทรานส์เพราะในหลายประเทศที่เป็นแหล่งต้นกำเนินของไขมันทรานส์ต่างออกกฎหมายของตัวเองแล้ว เพราะฉะนั้นไขมันทรานส์ที่เขาผลิตแล้วจะถูกส่งไปที่ไหนก็ไม่ทราบ ดังนั้น จึงต้องออกกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้มีการไหลเข้ามาในประเทศ” ศ.ดร.วิสิฐ กล่าวและว่า ใน 1 วันไม่ควรกินไขมันทรานส์เกินร้อยละ 1 ของปริมาณพลังงานทั้งหมดที่ได้รับต่อวัน ส่วนไขมันอิ่มตัวกินไม่เกินร้อยละ 10 ต่อวัน ดังนั้น ขอให้รับประทานให้พอเหมาะและออกกลังกายเป็นประจำ
ด้าน รศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ ประธานหลักสูตรโภชนาการและการกำหนดสูตรอาหาร สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล กล่าวว่า สาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประชากรโลก คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด และสาเหตุของการเกิดโรคดังกล่าวเพราะพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีไขมันมากเกินไป และขาดการออกกำลังกาย ซึ่งไขมันทรานส์ จะเข้าไปทำให้ไขมันดี (HDL) ลดลง ขณะเดียวกันก็ไปทำให้ไขมันเลว (LDL) เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับไขมันอิ่มตัว ถ้ากินเยอะก็ทำให้ไขมัมนเลวเพิ่มขึ้นเหมือนกัน ทั้งนี้ ถ้าดูตามลักษณะพฤติกรรมของคนในแต่ละประเทศแล้ว ยืนยันว่า การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศไทย รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานไขมันอิ่มตัวมากเกินร้อยละ 10 ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน ส่วนปัญหาไขมันทรานส์ในเมืองไทยนั้นไม่จัดว่าเป็นปัญหานักจัดอยู่ในพื้นที่สีเขียว ทั้งนี้ เพราะคนไทยไม่ได้รับประทานเยอะ