สธ. ยันถ่ายโอน รพ.สต. ปชช. ต้องไม่เสียประโยชน์ ก่อนย้ายต้องมีความพร้อมทั้งผู้ไป - ผู้รับ ปชช. ในพื้นที่เห็นด้วย มอบ สวรส. ศึกษาผลดีผลเสียการถ่ายโอน ยันไม่กระทบนโยบายทีมหมอครอบครัว เพราะเปิดกว้างการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ
นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จาก สธ. ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมหมออนามัย มูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งได้ชี้แจงว่า การถ่ายโอนนั้นอยู่ภายใต้มาตรการเดิม คือ ประชาชนต้องไม่เสียผลประโยชน์ ได้รับการดูแลไม่น้อยกว่าเดิม แต่ร่นระยะเวลาให้สั้นลง โดยจะต้องพิจารณา 3 เรื่อง คือ 1. ความพร้อมของ อปท. ในการรับไปดูแล 2. ความพร้อมของ รพ.สต. และ 3. ความเห็นของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ ในการถ่ายโอนเดิมมีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการอยู่แล้ว แต่จะต้องมีการปรับปรุงในรายชื่อคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่เป็นกรรมการ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลง
นพ.มนุต กล่าวว่า ในที่ประชุมก็มีเสียงแตก อปท. บางแห่งอยากรับ บางแห่งไม่อยากรับ ส่วน รพ.สต. บางแห่งอยากไป บางแห่งก็ไม่อยากไป เช่น ที่ถ่ายโอนไปแล้ว 52 แห่ง จาก 9,800 แห่ง บางส่วนไปแล้วมีการพัฒนาขึ้น บางส่วนไปแล้วก็อยากกลับเข้ามาอยู่ในการดูแลของ สธ. แต่ปัญหาคือกลับมาไม่ได้ เพราะไม่มีตำแหน่งรองรับให้ ทำให้คนทำงานลาออก ส่วน อปท. เองก็มีปัญหาหาคนมาทำงานไม่ได้ แบบนี้ประชาชนก็เสียประโยชน์ ฉะนั้น เรื่องนี้ต้องมีการศึกษาให้ดี จึงมอบสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ไปศึกษาและทบทวนการทำงานว่าควรมีอะไรบ้าง ผลที่จะเกิดกับประชาชน ผลกระทบกับ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป เมื่อถ่ายโอนไปแล้วผลดีคืออะไร ผลเสียคืออะไร ต้องรอบคอบ เพราะเรื่องสาธารณสุขไม่ใช่แค่ผลกระทบระยะสั้น แต่มีในระยะยาวด้วย อย่างการไม่ให้ อปท. ซื้อวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในสัตว์ 2 ปี จนมาเกิดการระบาดขึ้นในปีนี้ เป็นต้น
“เรื่องนี้ต้องให้กำลังใจกัน ต้องไม่ให้ รพ.สต. เสียขวัญ แม้จะเป็นกฎหมายให้เราต้องถ่ายโอน แต่ไม่ใช่ว่าจะผลักลูกของเราให้พ้นอกไวๆ หรือต้องมาหวงเอาไว้ แต่การถ่ายโอนต้องทำอย่างรอบคอบ มีความพร้อมทั้ง 2 ฝ่าย ประชาชนพร้อมรับ และไม่เสียประโยชน์ ซึ่งมีคนบอกว่าถ้าเข้าเกณฑ์ตามนี้ก็ให้โอนไปเลยไม่ต้องถามความสมัครใจ แต่ถ้าเกิดปัญหาขึ้นใครจะรับผิดชอบ เรื่องนี้ต้องคุยกันต่อ” นพ.มรุต กล่าว
เมื่อถามว่า การถ่ายโอน รพ.สต. ไปแล้ว จะกระทบกับนโยบายทีมหมอครอบครัวหรือไม่ นพ.มรุต กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ. สุขภาพปฐมภูมิ ระบุว่า ให้ร่วมมือกันได้ทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนั้น ไม่น่าจะมีผลกระทบ หากโอนไปแล้ว รพ.สต. ก็ยังสามารถขึ้นทะเบียนบริการปฐมภูมิของ สธ. ได้ แต่ที่เป็นห่วงคือ นโยบายต่างๆ ที่ถ่ายทอดออกไปและต้องการดำเนินการในทุกพื้นที่ จากนี้จะสามารถดำเนินการได้อย่างไร ซึ่งเป็นห่วงตรงนั้นมากกว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่า การถ่ายโอนต้องเร่งทำให้เสร็จในรัฐบาลนี้หรือไม่ นพ.มรุต กล่าวว่า เท่าที่คุยกันไม่ได้เร่งว่าต้องทำให้เสร็จในรัฐบาลนี้ แต่มีนักวิชาการบางส่วนบอกว่าให้รีบทำให้เสร็จ ส่วน สธ. ไม่ได้ตั้งเป้าว่าแต่ละปีจะต้องถ่ายโอนเท่าไร เพราะต้องรอบคอบ ไปแล้วประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติไม่เสียประโยชน์
เมื่อถามถึงผลการศึกษาของ สวรส. จะสามารถเปิดเผยได้หรือไม่ นพ.มรุต กล่าวว่า ขอเวลารวบรวมและเรียบเรียง เสนอ รมว.สาธารณสุข ก่อน