สธ. จัดกิจกรรม 1 วัด 1 รพ. ทั่วประเทศ ช่วยเช็กสุขภาพ “พระสงฆ์” ต่อเนื่อง หวังลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เริ่มวันวิสาขบูชานี้่เป็นต้นไป “สมเด็จวัดไตรมิตร” ขอพุทธศาสนิกชน อย่าถวายอาหารที่คนตายชอบ ขอคำนึงสุขภาพพระด้วย อาจกระทบโรคประจำตัวพระสงฆ์
วันนี้ (28 พ.ค.) ที่โรงพยาบาลสงฆ์ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวกิจกรรม “1 วัด 1 รพ.วันวิสาขบูชา” ว่า จากข้อมูลปัจจุบัน พบว่า พระสงฆ์มีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น สธ. จึงจัดกิจกรรม “1 วัด 1 โรงพยาบาล” โดยใช้โอกาสวันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันที่ 29 พ.ค. 2561 เป็นวันดีเดย์ในการให้ รพ. ทุกแห่งสำรวจและกำหนดวัดในพื้นที่ เพื่อติดตามดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ในการลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และให้มีการฝึกอบรมสร้างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำวัด อาจจะเป็นประชาชนทั่วไป พระสงฆ์ หรือเณรก็ได้ เพื่อให้มีความรู้เรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและการรักษา รวมถึงขอให้พระสงฆ์ช่วยเผยแพร่ความรู้ไปสู่ประชาชนผ่านการเทศนาธรรมเพื่อลดโรคที่เกิดจากพฤติกรรม โดยจะเริ่มต้น 1 พันวัด ก่อนขยายให้ครอบคลุมการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ 3.5 แสนคนทั่วประเทศ
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงวันสำคัญทางศาสนาขอให้ระวังอันตรายจากการถูกธูป เทียน จี้ที่ผิวหนัง หลีกเลี่ยงการสูดควันธูปด้วย เพราะพบสารก่อมะเร็ง อย่างไรก็ตาม อยากจะย้ำเรื่องของโรคพิษสุนัขบ้าเพราะจากรายงานปี 2561 ที่มีคนตายแล้ว 9 ราย พบว่า ส่วนหนึ่งถูกสุนัขในวัดกัด เพราะฉะนั้นอย่าไปยุ แหย่ หยอกสุนัข อย่าเอาสุนัขไปปล่อยวัด ควรดูแลฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ อยากขอให้ช่วยกันดูแลป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วยเพราะจากการสำรวจพบว่าดัชนี้ลูกน้ำยุงลายในวัดสูงถึงร้อยละ 52 ยิ่งปีนี้ ช่วงนี้พบว่าอัตราป่วยไข้เลือดออกสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปี ที่น่ากังวลคือ อัตราป่วยตายสูงกว่าค่าเฉลี่ยช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา และเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ ดังนั้น ขอให้ดูแลสิ่งแวดล้อมในวัด จำกัดขยะ คว่ำภาชนะ หมั่นเปลี่ยนน้ำ และปลูกสมุนไพรกันยุง เช่น ตะไคร้หอม เป็นต้น สำหรับอาหารที่ถวายพระก็สำคัญเน้นปรุงสุก ร้อน สะอาด เพราะช่วงนี้ยังพบโรคอุจจาระร่วงอยู่
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการสำรวจสุขภาพพระสงฆ์ พบว่า ปี 2549 มีพระสงฆ์สุขภาพดีร้อยละ 60 แต่ปี 2559 มีพระสงฆ์สุขภาพเพียงร้อยละ 52 พระสงฆ์ที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพปี 2549 ร้อยละ 22 ส่วนปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 19 ในขณะที่จำนวนพระสงฆ์ป่วยเมื่อปี 2549 อยู่ที่ร้อยละ 17 แต่ในปี 2559 เพิ่มเป็นร้อยละ 28 เท่ากับมีพระสงฆ์ป่วยเพิ่มถึงร้อยละ 11 ส่วนใหญ่เป็นโรคเกี่ยวกับพฤติกรรม คือ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต และข้อเข้าเสื่อม ทั้งนี้ จากข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี มีพระสงฆ์ที่เข้ารักษาเป็นผู้ป่วยใน 1 แสนรูป ผู้ป่วยนอก 5 พันรูป มีอัตราครองเตียงนานกว่าคนทั่วไป ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่าปี 60 มีค่าใช้จ่ยในการดูแลรักษาพระสงฆ์ที่เป็นผู้ป่วยนอก 631,258,360 บาท ผู้ป่วยใน 288,587,931 บาท
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร กล่าวว่า พระสงฆ์มีชีวิตอยู่ด้วยความศรัทธาของประชาชน จากการถวายภัตตาหารหรือน้ำปานะ ซึ่งมาจากความเชื่อและเลื่อมใสจริงๆ แต่อยากให้คำนึงถึงความเป็นจริงว่าบางสิ่งอย่างที่ตั้งใจทำบุญแต่ไม่ได้บุญก็มีเพราะไปกระทบโรคภัยไข้เจ็บประจำตัวของพระสงฆ์ ดังนั้น ขอให้พุทธศาสนิกชนคิดให้รอบคอบ อย่าคิดแต่ว่าบุพการีเสียชีวิต ชอบกินอะไรก็ถวายสิ่งนั้นเท่านั้น เพราะอาจจะกระทบสุขภาพ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดัน ดังนั้น อยากให้คิดถึงการถวายภัตราหารที่ดีต่อสุขภาพพระสงฆ์จริงๆ
พญ.อัมพร เบญจลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อาหารที่เหมาะสำหรับพระสงฆ์ควรครบ 5 หมู่ ใช้ข้าวกล้องสลับข้าวขาว เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน สลับกับปลา มีผัก ผลไม้รสไม่หวาน เน้นเมนูต้ม นึ่ง ย่าง อบ ลดหวาน มันเค็ม เป็นต้น หรือทำเป็นน้ำพริกรสไม่จัดมีผักลวกเคียง และไม่ลืมถวายน้ำเปล่าและนม