กรมควบคุมโรค พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้ารายที่ 9 เป็นหญิงชราที่ จ.ยโสธร เหตุถูกลูกสุนัขข่วน แต่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกัน
วันนี้ (20 พ.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้ายังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างต่อเนื่อง ช่วงที่ผ่านมาการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยง ได้แก่ สุนัข แมว และ โค ได้มีการฉีดวัคซีนไปแล้วและยังคงดำเนินการต่ออย่างต่อเนื่อง ล่าสุด กรมควบคุมโรคได้รับรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็นรายที่ 9 และยังคงเป็นรายที่ถูกสัตว์เลี้ยงของตนเองข่วน แล้วไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า รายงานการสอบสวนโรคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร พบว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้เป็นผู้หญิง อายุ 68 ปี ในจังหวัดยโสธร โดยก่อนการเข้าโรงพยาบาลมีประวัติถูกลูกสุนัขอายุ 1 ปี ข่วนที่หลังมือ เป็นแผลถลอก โดยผู้เสียชีวิตไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ก่อนหน้าถูกข่วน สุนัขมีอาการซึมลง บางครั้งก้าวร้าวและหลังข่วนผู้ป่วยได้หายออกจากบ้านไม่กลับมาอีก
ยอดผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 18 พ.ค. 2561 รวมแล้ว 9 ราย จาก 9 จังหวัด (สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง หนองคาย และ ยโสธร) จังหวัดที่มีรายงานหัวสัตว์ในผลบวกมากที่สุด คือ สุรินทร์ (121 หัว) ร้อยเอ็ด (93 หัว) สงขลา (64 หัว) นครราชสีมา (62 หัว) และ ยโสธร (35 หัว) ผลการสำรวจความคิดเห็น หรือ DDC poll เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2561 พบว่า ร้อยละ 51.3 ของกลุ่มตัวอย่าง เมื่อถูกสุนัขแมวกัดหรือข่วน จะไม่ทำอะไรและไม่ไปพบแพทย์ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวทำให้มีความเสียงต่อการเสียชีวิตสูงมากขึ้น
โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนที่ติดต่อผ่านทางกัด ข่วน เลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายสัตว์ที่มีเชื้อเข้าทางบาดแผล ระยะฟักตัวของโรคส่วนใหญ่ประมาณ 2 - 3 เดือน ในบางรายอาจนานเป็นปีหรือหลายปีได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะการสัมผัสโรค บริเวณที่ได้รับเชื้อไวรัส และความรุนแรงของบาดแผล โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข แมว ค้างคาว โค กระบือ สุกร แต่ในประเทศไทยพบมากในสุนัข แมว และ โค
นพ.สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการของโรคแสดงแล้ว จะไม่สามารถรักษาได้และจะเสียชีวิตอย่างเดียว ดังนั้น หากประชาชนถูกสุนัขและแมว หรือแม้กระทั่งลูกสุนัข/ลูกแมว อายุ 2 - 3 เดือน กัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผล แม้เพียงเล็กน้อยก็อย่าได้ชะล่าใจ รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง ประมาณ 10 นาที จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และถ้าได้รับการฉีดวัคซีนแล้วให้ไปฉีดวัคซีนให้ครบตามนัดทุกครั้ง
กรมควบคุมโรคขอให้ประชาชนป้องกันอย่าให้ถูกสุนัขกัด/ข่วน โดยยึดหลัก “คาถา 5 ย.” ได้แก่ 1. อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์ 2. อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกัน 3. อย่าแหย่ สัตว์เพราะอาจโดนข่วนหรือกัดได้ 4. อย่าหยิบ อาหารขณะสัตว์กำลังกิน 5. อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422