กรมควบคุมโรค ยันผู้เสียชีวิตจาก “พิษสุนัขบ้า” ยังมีแค่ 9 ราย แต่พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่ม 1 ราย ที่ จ.ระยอง ยังไม่เสียชีวิต อยู่ในการดูแลของแพทย์
วันนี้ (12 มิ.ย.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีกระแสพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้ารายที่ 10 ว่า ผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในปีนี้ยังมีจำนวน 9 ราย จาก 9 จังหวัด คือ สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง หนองคาย และ ยโสธร อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคได้รับรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่ม 1 ราย จากรายงานการสอบสวนโรคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง พบว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นชาย อายุ 59 ปี ในจังหวัดระยอง โดยก่อนเข้าโรงพยาบาลมีประวัติถูกสุนัขกัดเมื่อเดือน มี.ค. 2561 เป็นสุนัขไม่มีเจ้าของ และไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีน ซึ่งผู้ป่วยไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ขณะนี้ผู้ป่วยอยู่ระหว่างการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนที่ติดต่อผ่านทางกัด ข่วน เลียบาดแผล หรือสัมผัสกับน้ำลายสัตว์ที่มีเชื้อเข้าทางบาดแผล ระยะฟักตัวของโรคส่วนใหญ่ประมาณ 2 - 3 เดือน ในบางรายอาจนานเป็นปีหรือหลายปีได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะการสัมผัสโรค บริเวณที่ได้รับเชื้อไวรัส และความรุนแรงของบาดแผล โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข แมว ค้างคาว โค กระบือ สุกร แต่ในประเทศไทยพบมากในสุนัข แมว และโค
“ผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการของโรคแสดงแล้ว จะไม่สามารถรักษาได้และจะเสียชีวิตอย่างเดียว ดังนั้น หากประชาชนถูกสุนัขและแมว หรือแม้กระทั่งลูกสุนัข ลูกแมว อายุ 2 - 3 เดือน กัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผล แม้เพียงเล็กน้อยก็อย่าได้ชะล่าใจ รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง ประมาณ 10 นาที จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และที่สำคัญ หากได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ขอให้ไปฉีดวัคซีนต่อให้ครบตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กรมควบคุมโรคขอให้ประชาชนป้องกันและลดความเสี่ยงอย่าให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะสุนัขและแมว กัด ข่วน หรือเลียบาดแผล โดยขอยึดหลัก “คาถา 5 ย.” ได้แก่ 1. อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์ 2. อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกัน 3. อย่าแหย่ สัตว์เพราะอาจโดนข่วนหรือกัดได้ 4. อย่าหยิบ อาหารขณะสัตว์กำลังกิน และ 5. อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422