กทม. อนุโลมแผงลอยหน้า “เซ็นทรัลลาดพร้าว - เดอะวันพาร์ค” ได้ถึงวันที่ 28 พ.ค. นี้ ลั่น 29 พ.ค. เป็นต้นไป ห้ามขายบนทางเท้าและผิวจราจรเด็ดขาด เผยให้ขายได้บริเวณทางโค้งออกถนนวิภาวดีที่เป้นจุดผ่อนผันเดิม เตรียมจัดสรรพื้นที่ใหม่ให้รองรับผู้ค้าได้มากขึ้น ด้านผู้ค้าพร้อมปฏิบัติตาม หวังจัดระเบียบแล้วสภาพดีขึ้น
วันนี้ (24 พ.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นายวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัด กทม. และนายปกครอง พลเมือง ผู้อำนวยการเขตจตุจักร นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่เทศกิจ ลงพื้นที่บริเวณศูนย์การค้าเดอะวันพาร์ค และห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว เพื่อตรวจความเรียบร้อย การแก้ไขปัญหาการทำการค้าบนทางเท้าและผิวจราจร พร้อมทำความสะอาดพื้นที่ครั้งใหญ่ ภายหลังที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ให้ กทม. เข้ามาดูแลและบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าวแทน
นายสกลธี กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับ ร.ฟ.ท. สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน กอ.รมน.กทม. และตัวแทนกลุ่มผู้ค้าบริเวณดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2561 ซึ่งเห็นตรงกันว่าตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. 2561 เป็นต้นไป จะต้องไม่มีการตั้งวางและจำหน่ายสินค้าบนทางเท้าและพื้นผิวจราจร บริเวณหน้าศูนย์การค้าเดอะวันพาร์ค และ หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ถนนพหลโยธินขาออกตลอดทั้งแนว เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน หลังจากที่มีการร้องเรียนเข้ามาตลอด หากผู้ใดฝ่าฝืนก็จะดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานเขตจตุจักรได้ประสานความร่วมมือและทำความเข้าใจกับผู้ค้าบริเวณดังกล่าวแล้ว โดยจะอนุโลมให้ทำการค้าได้ถึงวันที่ 28 พ.ค. 2561 เท่านั้น ยกเว้นที่เป็นเต็นท์ลูกเต๋า ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ของห้างเดอะวันพาร์ค ยังสามารถขายได้ แต่ กทม.จะขอความร่วมมือจัดระเบียบให้เรียบร้อย
นายสกลธี กล่าวว่า หลังจากนี้ จะย้ายผู้ค้าไปทำการค้าด้านในบริเวณมุมโค้งที่จะไปออกถนนวิภาวดี ซึ่งเป็นพื้นที่จุดผ่อนผันเดิมที่อนุญาตให้ขายได้ สามารถรองรับผู้ค้าได้ 70 แผง แต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีผู้ค้าเดิมทำการค้าอยู่ประมาณ 79 ราย ขณะที่ผู้ค้าที่ถูกจัดระเบียบมีประมาณ 59 ราย จึงอาจต้องมีการลดขนาดแผงค้าลงและบริหารจัดการพื้นที่ใหม่ เพื่อให้สามารถรองรับผู้ค้าที่จะย้ายเข้ามาเพิ่ม ซึ่งขณะนี้สำนักงานเขตจตุจักร และ ร.ฟ.ท. อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันในการบริหารจัดการพื้นที่และจัดสรรรายชื่อผู้มีสิทธิรายใหม่ที่จะย้ายเข้าไปทำการค้าบริเวณด้านในให้เหมาะสม โดยจะพยายามจัดพื้นที่รองรับให้เพียงพอกับจำนวนผู้ค้า ซึ่งสงวนสิทธิ์ให้ผู้ค้าในพื้นที่จัดระเบียบเท่านั้น โดยมอบหมายให้สำนักงานเขตจตุจักรทำบัญชีผู้ค้าที่อยู่ในพื้นที่จัดระเบียบ
“หลังจัดระเบียบจะไม่ให้ผู้ค้ากลับมาขายบนฟุตปาธ หรือบนผิวจราจรเด็ดขาด ขณะเดียวกัน กทม. จะปรับภูมิทัศน์ทางเท้า ซึ่งชำรุดหลายจุดให้สวยงามและใช้งานได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ได้ประสาน สน.พหลโยธิน กวดขันรถตู้ที่มาจอดหน้าศูนย์การค้าเดอะวันพาร์ค และ เซ็นทรัลลาดพร้าว ไม่ให้จอดแช่นาน เพราะตรงนี้ไม่ใช่วินรถตู้” นายสกลธี กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเขตจตุจักรได้ทำประกาศเรื่องห้ามขายหรือจำหน่ายสินค้าบนทางเท้าและผิวจราจรบริเวณหน้าศูนย์การค้าเดอะวันพาร์คและห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว ถนนพหลโยธินตลอดแนว เพื่อแจ้งให้แก่ผู้ค้าบริเวณดังกล่าวรับทราบอย่างเป็นทางการ ว่า วันที่ 29 พ.ค. 2561 เป็นต้นไป ห้ามมีการตั้งวางและจำหน่ายสินค้าบนทางเท้าและพื้นผิวการจราจรอีก
นางศิริพร เชื้อโพล้ง ผู้ค้ารายหนึ่งบริเวณด้านหน้าศูนย์การค้าเดอะวันพาร์ค กล่าวว่า ตนมาขายของที่บริเวณดังกล่าวมา 10 ปีแล้ว โดยเริ่มแรกเป็นพี่สาวมาขายของก่อน ได้พื้นที่ 1 ล็อก และตนตามมาค้าขายได้พื้นที่อีก 1 ล็อกข้างกัน รวมเป้น 2 ล็อก พื้นที่ประมาณ 3 เมตรกว่าๆ ซึ่งพื้นที่ที่ตนขายของนั้นอยู่ในจุดผ่อนผันที่ขายได้ ซึ่งการจัดระเบียบในครั้งนี้ยอมรับว่าอาจมีผลกระทบบ้าง เพราะอาจต้องมีการแบ่งพื้นที่กันใหม่ โดยล่าสุดทางสำนักงานเขตจตุจักรก็ได้มีการมาตรวจสอบและเช็กรายชื่อเจ้าของแผงแล้วว่าเป็นใครบ้าง แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ทั้งนี้ ยอมรับว่าบริเวณดังกล่าวสภาพแวดล้อมก็ไม่ค่อยเอื้ออำนวยกับการค้าขาย แต่ดีตรงที่ว่าไม่เสียค่าเช่า ก็ได้แต่หวังว่าหลังจากที่ทาง กทม. เข้ามาจัดระเบียบแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้น ก็เชื่อว่าหากดำเนินการดีๆ ก็จะดึงดูดให้มีคนมาเดินซื้อของมากยิ่งขึ้น แม้จะจัดสรรพื้นที่ค้าขายบริเวณนี้ใหม่ หากได้รับพื้นที่น้อยลงก็คงต้องยอมรับการดำเนินการ เพราะดีกว่าไม่มีที่ขายเลย
ขณะที่ น.ส.ศุภลักษณ์ ผดาวรรณ ผู้ค้าร้านน้ำบริเวณด้านหน้าศูนย์การค้าเดอะวันพาร์ค กล่าวว่า หาก กทม. เข้ามาจัดระเบียบ โดยให้ออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 29 พ.ค. 2561 ที่ห้ามไม่ให้มีการค้าขายที่รุกล้ำทางเท้าและถนน ก็คงได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะร้านที่ขายอยู่ก็ถือว่าขายอยู่ริมทางเท้าและถนน แต่ถึงวันนั้นก็คงต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้ ตนเข้ามาขายบริเวณดังกล่าวได้ประมาณ 5 - 6 ปี จากการแนะนำของเพื่อน ก็มาขายพร้อมกับผู้ค้ารายอื่นๆ ทั้งนี้ หาก กทม. จัดสถานที่ค้าขายใหม่ก็พร้อมจะไป เพราะตนก็ลาออกจากงานเพื่อมาค้าขายแล้วกว่า 1 ปี ส่วนที่ว่าจะมีการจัดสรรพื้นที่ผ่อนผันให้ค้าขายใหม่นั้น ก็เชื่อว่าผู้ค้ารายเดิมที่เขามีล็อกในจุดนั้นอยู่แล้วคงไม่ยอม เพราะหากได้รับพื้นที่น้อยลงเขาก็มีผลกระทบเช่นกัน