กทม. หารือตัวแทนผู้ค้าข้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ย้ำ ห้ามขายบนฟุตปาธและบนถนน สั่งโยธา - เขตจตุจักร ทำผังค้าขายใหม่ในโซนที่ขายได้ ภายใน 10 - 14 วัน หากผังใหม่เสร็จผู้ค้าต้องออกจากพื้นที่ทั้งหมด เผยเดิมมี 70 ล็อก อาจปรับเพิ่มหรือลดขนาด พร้อมขอ ร.ฟ.ท. ขยายพื้นที่ขายเพิ่ม แต่ไม่ให้บดบังทัศนวิสัย
ความคืบหน้าการจัดระเบียบผู้ค้าบริเวณข้างห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว หลังจากมีข้อร้องเรียนว่ามีการรุกล้ำทางเท้าและถนน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จึงมีการหารือระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ ร.ฟ.ท. ว่า จะให้ กทม. เข้ามาจัดระเบียบอย่างไร โดยจะมีการหารือกับผู้ค้าในวันที่ 21 พ.ค. 2561
วันนี้ (21 พ.ค.) นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับผู้ค้าบริเวณข้างห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ว่า ขณะนี้ทางผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. ได้ทำหนังสือมายัง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อขอให้ทาง กทม. ดำเนินการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาผู้ค้าบริเวณดังกล่าวแล้ว ซึ่งทางผู้ว่าฯ ก็ได้มอบหมายให้ตนและสำนักงานเขตจตุจักรไปดำเนินการต่อ โดยวันนี้ได้มีการหารือกับตัวแทนผู้ค้าประมาณ 4 - 5 ราย ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ได้แจ้งให้ทางผู้ค้าเข้าใจแล้วว่า ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง โดยจะไม่อนุญาตให้มีการขายบริเวณทางเท้าและลงมาบนถนนเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ทางผู้ว่าฯ กทม. ก็เป็นห่วง เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดีก็คงไม่ได้ไล่ผู้ค้าออกไปเลย ก็พยายามหาจุดที่ทำให้สามารถค้าขายต่อไปได้ แต่อาจจะไม่ได้ทุกคน ก็พยายามทำให้ดีที่สุดให้มีที่ทำกินกันต่อ
นายสกลธี กล่าวว่า อย่างบริเวณโค้งวนรถเพื่อออกถนนวิภาวดี ฝั่งซ้ายด้านบนที่ไม่ใช่ฟุตปาธ ตรงนั้นสามารถค้าขายได้ มีผู้ค้าอยู่ประมาณ 70 ราย หรือ 70 ล็อก ตั้งแต่สมัย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าราชการ กทม. แบ่งล็อกละประมาณ 1.50 เมตร แต่มีผู้ค้าที่ล้ำออกมาประมาณ 100 กว่าราย สำนักการโยธา และสำนักงานเขตจตุจักร ก็จะเข้าไปดูเพื่อทำล็อกใหม่ อาจจะเล็กลงหรือขยายพื้นที่ และหารือกับ ร.ฟ.ท. ด้วยว่าจะให้พื้นที่เพิ่มได้หรือไม่ เพื่อจัดดระเบียบให้เรียบร้อย ส่วนผู้ค้าฝั่งถนนพหลโยธินทั้งบนฟุตปาธและล้ำลงมาสองเลนบนถนน จะไม่ให้ค้าขายเด็ดขาด ก็ภายใน 10 - 14 วัน พอสำนักการโยธาและสำนักงานเขตจตุจักร ทำผังใหม่มาเรียบร้อย หลังจากนั้นจะให้ผู้ค้าออกทั้งหมดเลย
“การแบ่งพื้นที่ใหม่นั้น ยืนยันว่า จะต้องไม่มีการทำเป็นวัตถุถาวร เพราะอาจไม่ถูกต้องตามหลักโยธาหรือสุขลักษณะ ซึ่งทางเขตและโยธาก็จะมาดูแล้วแบ่งให้ชัดเจน ได้เท่าไหนก็เท่านั้น และทาง ร.ฟ.ท. ก็จะดูว่าสามารถขีดที่ให้ได้มากที่สุด ไม่ให้เสียทัศนวิสัยไป สำหรับเรื่องผลประโยชน์ตรงนี้ กทม. ไม่ได้เกี่ยวข้องเลย เป็นเรื่องระหว่างผู้ค้ากับทาง ร.ฟ.ท. ส่วน กทม. เราแค่เข้ามาช่วยจัดระเบียบเท่านั้นตามกฎหมายรักษาความสะอาด” นายสกลธี กล่าว
เมื่อถามว่า จะให้ผู้ค้าที่ไม่ได้อยู่ต่อไปอยู่พื้นที่ไหนแทน นายสกลธี กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตจตุจักรไปศึกษาและหาพื้นที่เพื่อรองรับแล้ว