xs
xsm
sm
md
lg

ทปอ.พร้อมช่วย นร.จองตั๋วเครื่องบินไปแล้ว หลังปรับกำหนดการ ยันเดินหน้าระบบ TCAS ต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทปอ. พร้อมประสานมหา'ลัย ช่วยเหลือ นร. จองเครื่องบินไปแล้ว หลังปรับกำหนดการ TCAS ยันเดินหน้าระบบต่อ เหตุช่วยลดปัญหาวิ่งรอกสอบ กั๊กสิทธิ ลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครองจาก 70,000 เหลือ 20,000 บาท เผยปรับปรุงระบบให้ดีขึ้นแล้ว ขอให้มั่นใจ

จากกรณีที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เลื่อนกำหนดการระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) ประจำปี 2561 ในรอบที่ 3 - 4 ออกไป จากปัญหาระบบเว็บไซต์ของ ทปอ. ที่รับสมัคร TCAS รอบ 3 ล่มบ่อยครั้ง เพื่อแก้ปัญหาความวิตกกังวลของนักเรียนและผู้ปกครอง แต่มีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มั่นใจในระบบ และเกิดผลกระทบจากการจองตัวเครื่องบินและโรงเรียนเพื่อมาเตรียมสอบสัมภาษณ์

วันนี้ (16 พ.ค.) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิกรบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) แถลงข่าวเรื่องการรับสมัคร TCAS ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีนักเรียนเข้าระบบพร้อมกันจำนวนมากกว่า 50,000 คนต่อวินาที จนทำให้ระบบล่มไปช่วงหนึ่งไม่สามารถเข้าใช้งานได้ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นทาง ทปอ.ขอแสดงความเสียใจและขอโทษต่อนักเรียนและผู้ปกครองด้วย โดย ทปอ. ได้เร่งแก้ไขโดยปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ โดยปรับปรุงระบบทางเข้าหรือการล็อกอินให้รองรับได้เพิ่มมากขึ้น 3 เท่าตัว โดยเพิ่มเซิร์ฟเวอร์จาก 4 เครื่อง เป็น 12 เครื่อง พร้อมใช้เทคนิคสร้างระบบบ่อพักข้อมูลเพื่อรองรับ และเพิ่มผู้เชี่ยวชาญทั้งระบบฐานข้อมูล ระบบการเชื่อมโยงเครือข่าย ระบบการจัดการเว็บไซต์ และด้านสถาปัตยกรรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ประจำอยู่ศูนย์คอมพิวเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ระบบ TCAS และได้เลื่อนกำหนดการออกไปเพื่อลดความวิตกกังวลของนักเรียนและผู้ปกครอง นอกจากนี้ ยังมีการคณะทำงาน 2 ชุด คือ 1.คณะทำงานพัฒนาปรับปรุงระบบไอที และ 2.คณะทำงานพัฒนาระบบ TCAS ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดวันที่ 16 พ.ค. 2561 เวลา 10.00 น. มีจำนวนผู้สมัครแล้ว 150,382 ใบ

เมื่อถามถึงเด็กที่ของเครื่องบินและโรงแรมไปแล้ว และได้รับผลกระทบจากการเลื่อนกำหนดการออกไป ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า ทปอ. รับทราบปัญหาดังกล่าว ซึ่งหากนักเรียนหรือผู้ปกครองที่มีปัญหาก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ ขณะนี้ก็มีติดต่อเข้ามาประมาณ 30 - 40 ราย การแก้ปัญหาจะเป็นลักษณะเคสบายเคสไป โดยจะดูว่ามีการจองจริงหรือไม่ และประสานทางมหาวิทยาลัยให้ความช่วยเหลือ

เมื่อถามถึงกรณีเด็กและผู้ปกครองไม่มั่นใจในระบบ TCAS จะยังเดินหน้าต่อหรือไม่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า ระบบยังคงเดินหน้าต่อแน่นอน ทั้งนี้ ยอมรับว่าเป็นปีแรกที่ดำเนินการ ย่อมมีปัญหาบ้าง ซึ่ง ทปอ.ก็เร่งดำเนินการแก้ไข นอกจากนี้ ระบบ TCAS ที่ตั้งขึ้นมาก็เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีการร้องเรียนกันมากในอดีต โดยเฉพาะช่วงสอบรับตรงที่มหาวิทยาลัยดำเนินการจัดกันเองและมักจัดช่วงก่อนที่จะเรียนจบ ม.6 ทำให้ช่วงที่เรียน ม.6 แทนที่จะอยู่ในห้องเรียน ก็ไปวิ่งรอกสอบกัน ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก็มีเป็นจำนวนมาก และเกิดการเก็บสิทธิไว้ ทำให้นักเรียนคนอื่นเสียโอกาส จนได้รับการร้องเรียนจากทั้งผู้ปกครองและโรงเรียนต่างๆ จึงเกิดเป็นระบบ TCAS ขึ้นโดยรอบ 3 คือ กำหนดให้รับตรงร่วมกันหลังจากปิดเทอม ม.6 ไปแล้ว จึงช่วยแก้ปัญหานี้ได้ และลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองลงมา เท่าที่ทราบข้อมูลจากงานวิจัยคร่าวๆ พบว่า เมื่อก่อนผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายถึง 70,000 บาท แต่ระบบ TCAS สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายลงมาได้ไม่ถึง 20,000 บาท

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ระบบ TCAS ที่มีถึง 5 รอบ ยังเป็นการให้โอกาสเด็กทุกคน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะรอบแรกเป็นรอบของการยื่นพอร์ตฟอลิโอ ส่วนรอบ 2 ที่เป็นโควตาของแต่ละมหาวิทยาลัย ก็เป็นการให้โอกาสโดยเฉพาะเด็กในต่างจังหวัดหรือชนบทในการเข้าถึง ซึ่งขณะนี้ทั้งสองรอบก็มีนักเรียนยืนยันสิทธิไปแล้วกว่า 1.25 แสนคนแล้ว ส่วนในรอบที่ 3 ซึ่งรับสมัครผ่านออนไลน์ ตนเชื่อว่าทุกวันนี้ระบบอินเทอร์เน็ตค่อนข้างเข้าถึง จึงไม่น่ามีปัญหา และยังมีรอบ 4 และ 5 ในการรองรับอีก ทั้งนี้ ยืนยันว่ายังต้องมีการพัฒนาระบบ TCAS ในอนาคตต่อไปอีก เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพสังคมมากที่สุด ส่วนข้อกังวลเรื่องของการรับจ้างทำพอร์ตฟอลิโอนั้น ย้ำว่าอย่าทำเลย เพราะทาง ทปอ.หรือมหาวิทยาลัยสามารถตรวจสอบได้ และรู้ได้ว่ามีการจ้างทำมาหรือไม่ ซึ่งหากตรวจสอบพบก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวเองและชื่อเสียงของโรงเรียนอีก

เมื่อถามถึงเวลานักเรียนเกิดปัญหาเกี่ยวกับการสมัคร แต่ไม่ค่อยได้รับข้อมูลจาก ทปอ. จนต้องไปขอความช่วยเหลือจากที่อื่นๆ ทปอ. ต้องมีการปรับระบบการทำงานในเรื่องนี้หรือไม่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนของ ทปอ. แต่หากนักเรียนมีปัญหาอะไรก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ ซึ่งในเว็บไซต์ของ ทปอ. ก็ระบุเบอร์โทร.ไว้ และท่านเลขาธิการ ทปอ. และรองเลขาฯ ก็มาประจำอยู่ที่ ทปอ. พร้อมให้บริการและช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาตลอด ส่วนกรณีการเลื่อนไปจนกระชั้นกับการเปิดเทอม ขอให้เข้าใจว่าเพื่อเป็นการแก้ปัญหาการวิ่งรอกสอบ การสอบรับตรงที่ไม่พร้อมกัน ก็ต้องเข้าใจว่าเมื่อมารับสมัครสอบร่วมกันหลังปิดเทอม ก็จะเหลือเวลาดำเนินการไม่มาก

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ความพิเศษของระบบรับตรงรอบที่ 3 ยังเปิดรับนักศึกษาจำนวน 16 หลักสูตร ภายใต้โครงการหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อตอบสนองใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3 หลักสูตร ได้แก่ วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาเคมี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4 หลักสูตร ได้แก่ วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพและการแปรรูปเคมีชีวภาพ วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล วิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชานวัตกรรมและการแปรรูปทางดิจิทัล และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร

สจล. 1 หลักสูตร คือ วิศวดรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 1 หลักสูตร คือ วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จำนวน 2 หลักสูตร คือ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลและการวิเคราะห์เชิงสถิติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 1 หลักสูตร ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมบริการดิจิทัล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 2 หลักสูตร คือ วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาบูรณาการเทคโนโลยีการเกษตร การจัดการความปลอดภัยด้านอาหาร (นานาชาติ) วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเทคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยพะเยา 1 หลักสูตร วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 1 หลักสูตร คือ เทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรมอาหาร


กำลังโหลดความคิดเห็น