หมอผิวหนัง ชี้ “กินเผ็ดแล้วคันหัว” ไม่เกี่ยวกับการแพ้สารในพริก ระบุ พริกจะกระตุ้นเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการร้อน เหงื่อออก เผยอาการแต่ละคนไม่เท่ากัน ด้านหมอโภชนาการชี้สาร “แคปไซซิน” ในพริก ช่วยเผาผลาญอาหารดี แต่อย่ากินเผ็ดจัด เสี่ยงรับพลังงานจากอาหารดับเผ็ดอื่นและได้รับโซเดียมสูง
นพ.เวสารัช เวสสโกวิท รองผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีหลายคนรับประทานอาหารเผ็ด หรือมีพริกเป็นส่วนประกอบ แล้วเกิดอาการคันหนังศีรษะยุบยิบ เหงื่อออกมากผิดปกติ จนหลายคนเกิดคำถามว่าเกี่ยวกับการแพ้สารในพริกหรือไม่ ว่า ตามปกติแล้วเวลามนุษย์หรือสัตว์ที่รับประทานพริกเข้าไปแล้ว พริกจะเข้าไปกระตุ้นเส้นประสาทตัวหนึ่ง ทำให้เกิดอาการหลายๆ อย่าง เช่น เกิดอาการร้อน อาการเหงื่อออก โดยเหงื่อออกที่สัมพันธ์กับการรับประทานพริกมีได้หลายที่ เช่น ที่ศีรษะทำให้เกิดอาการคันที่ศีรษะได้ บางคนเหงื่อออกที่หน้าเยอะ ซึ่งถือเป็นการตอบสนองของร่างกายเฉยๆ ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของการแพ้สารในพริกแต่อย่างใด
พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า ในทางโภชนาการ พริกจะมีสารสำคัญตัวหนึ่ง คือ “แคปไซซิน (Capsaicin)” ที่ทำให้เกิดรสเผ็ดร้อน และทำให้คนที่รับประทานเข้าไปเกิดอาการเหงื่อออกได้ ซึ่งอาการเหงื่อออกมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน ว่ามีความทนต่อสารนี้ ต่อรสเผ็ดร้อนนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งแต่ละคนมีไม่เท่ากัน บางคนรับประทานแล้วเหงื่อไม่ออก แต่บางคนรับประทานเข้าไปเล็กน้อยก็เหงื่อออกมากได้ อย่างฝรั่งที่รับประทานอาหารเผ็ดก็เหงื่อออกมาก เป็นต้น ส่วนที่รับประทานอาหารเผ็ดหรือมีพริกเป็นส่วนประกอบแล้วบางคนรู้สึกคันที่ศีรษะเกี่ยวกับอาการแพ้หรือไม่ เรื่องนี้คงยังไม่สามารถตอบได้ เพราะยังไม่มีข้อมูล แต่ปกติแล้วอาการแพ้ด้วยทั่วไป หากเป็นการแพ้แบบเฉียบพลันก็อาจมีอาการคันเกิดขึ้นได้ แต่อันตรายที่เรากลัวจากการแพ้เฉียบพลันคือเกิดอาการเยื่อบุหายใจบวมมากกว่า
พญ.นภาพรรณ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สารแคปไซซินในพริกนั้น ถือว่ามีประโยชน์ในทางโภชนาการ เพราะเป็นตัวที่ช่วยเพิ่มการเผาผลาญอาหาร ดังนั้น หากรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดสักหน่อยก็จะช่วยเเกิดการเผาผลาญอาหารได้ แต่การรับประทานอาหารเผ็ดก็ถือว่าเป็นดาบ 2 คม เพราะเมื่อเวลารับประทานอาหารเผ็ดแล้วเราอาจจะอยากกินอาหารอย่างอื่นเพิ่มเพื่อให้เผ็ดน้อยลง บางคนกินน้ำพริกเผ็ดก็เติมข้าวมากขึ้น หรือกินแคปหมูมากขึ้น หรือกับข้าวที่ไปแกล้ม ทำให้ได้รับพลังงานเกินหรือมากเกินไป ดังนั้น หากรับประทานน้อยๆ ก็จะช่วยการเผาผลาญอาหารได้ดีขึ้น
“อาหารรสเผ็ดถือเป็นวัฒนธรรมการรับประทานอาหารในบ้านเรา ซึ่งอาหารรสเผ็ดสามารถรับประทานได้ แต่ข้อควรระวังคืออย่ารับประทานอาหารรสเผ็ดจัดมากเกินไป เนื่องจากอาหารรสเผ็ดมักไม่ได้มาแค่รสเผ็ดโดดๆ แต่จะมีรสอื่นตามมาด้วย โดยเฉพาะรสเค็มที่จะมาคู่กัน โดยอาหารเผ็ดจัดมักใส่เครื่องปรุงรสให้เค็มมากขึ้น ซึ่งบางคนจะไม่ทราบว่ายิ่งเผ็ดแซ่บมากก็ยิ่งมีเค็มมาก มีโซเดียมมากไปด้วย ดังนั้น การรับประทานอาหารรสเผ็ดจึงต้องระมัดระวังทั้งการได้รับพลังงานเพิ่มจากการรับประทานอาหารอื่นดับเผ็ด และการได้รับโซเดียมเกินต้องการ” พญ.นภาพรรณ กล่าว