xs
xsm
sm
md
lg

“สัตว์เลี้ยง” ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมโรค เผย สัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น คาดมาจากการชะลอฉีดวัคซีนในสัตว์ 1 - 2 ปี ห่วงสัตว์เลี้ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้น เหตุอาจเลี้ยงแบบปล่อยปละละเลย ขณะที่การฉีดวัคซีนป้องกันในคนยังเท่าเดิม ย้ำต้องระวังทุกพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่เสี่ยงระบาดตามที่กรมปศุสัตว์ประกาศ

วันนี้ (6 มี.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงปัญหาพบโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น ว่า แม้จะพบสัตว์มีเชื้อพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น แต่ประชาชนที่มารับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้ายังไม่แตกต่างจากเดิม คือ ประมาณ 300,000 คน สำหรับ ม.ค.- ก.พ. 2561 มีคนมาฉีดวัคซีนแล้ว 39,000 คน หากอยู่ในจำนวนนี้ตัวเลขทั้งปีก็จะเฉลี่ยไม่เกิน 3 แสนคน ส่วนกรณีตรวจพบเชื้อจากหัวสุนัขเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากการชะลอการฉีดวัคซีนในสัตว์ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จากการทักท้วงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า ใช้งบท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนจะซ้ำซ้อนกับปศุสัตว์และไม่ใช่หน้าที่ รวมทั้งมีการค้นหาสัตว์ป่วยเพิ่มขึ้น

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ขณะนี้มีการปลดล็อกข้อทักท้วงของ สตง.แล้ว และกระทรวงมหาดไทยก็มีโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าตามพระปณิธาน ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักณ์ อัครราชกุมารี ให้ประเทศไทยปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2563 และในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ผู้แทนจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ข้อมูลว่า สนับสนุนงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท เพื่อกระจายให้ท้องถิ่นซื้อวัคซีนฉีดในสัตว์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษาสุนัขบ้าในสัตว์ ซึ่งติดต่อไปสู่คนได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญเราต้องตระหนักว่า หากถูกสุนัขกัดต้องรีบมาฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค ซึ่งกรมควบคุมโรค และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สนับสนุนงบฯในการซื้อวัคซีนฉีดในคน รวมทั้งเซรุ่มสกัดจากน้ำเหลือง ซึ่งจะใช้ฉีดในกรณีที่คนถูกกัดบริเวณที่มีเส้นประสาทมากๆ เช่น มือ และใบหน้า และมีแผลเหวอะหวะมากๆ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งหากฉีดเร็วก็ป้องกันความเสี่ยงเสียชีวิตได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรมปศุสัตว์ประกาศพื้นที่เสี่ยงระบาดโรคพิษสุนัขบ้า ต้องระวังเป็นพิเศษหรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จากสถานการณ์จะพบหัวสุนัขติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น อย่าง ม.ค. - ก.พ. 2561 เพิ่มสูงถึง 2 เท่ามากกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2560 โดยพบมากทั้งภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมๆ แต่ในปี 2561 พบมีการขยายเพิ่มไปทางอีสานตอนกลาง และภาคตะวันตก ภาคใต้ จริงๆ ไม่อยากระบุเป็นภาค หรือเป็นจังหวัดมากนัก เพราะข้อเท็จจริงต้องระวังทั้งประเทศ เนื่องจากการเดินทางสะดวกขึ้น ทำให้การเคลื่อนย้ายสัตว์มากขึ้นด้วย เห็นได้จากข้อมูลว่าสัตว์ที่มีเจ้าของพบเชื้อพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น โดยพบถึงร้อยละ 54 - 55 ของหัวสุนัขที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า ขณะที่สุนัขจรจัดมีประมาณร้อยละ 35 นอกนั้นไม่ทราบประวัติ ซึ่งตรงนี้เป็นสัญญาณว่า สุนัขมีเจ้าของเริ่มมีปัญหา ซึ่งอาจมาจากเจ้าของบางคนปล่อยปละละเลย หรือฉีดวัคซีนไม่ต่อเนื่อง หรืออาจไม่ระวังเลี้ยงแบบเปิด ทำให้สุนัขหนีออกไปข้างนอกและอาจไปสัมผัสกับสุนัขสาธารณะที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าได้

เมื่อถามว่า สุนัขมีเจ้าของมีเชื้อพิษสุนัขบ้ามากขึ้น กทม.ต้องเฝ้าระวังหรือไม่ เพราะคนเลี้ยงสัตว์กันมาก นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ไม่เสมอไป แต่ในเมืองก็มีการเลี้ยงเพิ่มอยู่ ส่วนพื้นที่ กทม.ตนมองว่า คนมีความรู้และทาง กทม.ก็มีการบริหารจัดการ อย่างหากเจ้าของปล่อยปละละเลย แล้วสุนัขป่วยไปกัดคนอื่นก็จะมีความผิดทั้ง พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และประมวลกฎหมายอาญา เป็นต้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นในการดำเนินการ


กำลังโหลดความคิดเห็น