สปสช. แนะ อบต./เทศบาลใช้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล” ช่วยควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ตามประกาศหลักเกณฑ์ใช้งบหนุนแก้ปัญหาโรคระบาด - ภัยพิบัติ ส่วนผู้ถูกสุนัขกัดใช้สิทธิบัตรทองฉีดวัคซีนที่ รพ.รัฐ ใกล้ที่สุดโดยเร็ว ด้านประกันสังคมย้ำผู้ประกันตนถูกหมาแมวกัด ใช้สิทธิรับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าได้
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าที่ระบาดในหลายพื้นที่ประเทศไทยขณะนี้ โดยกรมปศุสัตว์ได้มีการประกาศเขตโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 13 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าอีก 42 จังหวัด ขณะที่มีรายงานสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าโดยกรมควบคุมโรค พบเชื้อบวกจากการตรวจยืนยันหัวสุนัขช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ในปีนี้ที่สูงเป็น 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 ทั้งนี้ แม้ว่าโรคพิษสุนัขบ้าปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยง อาทิ สุนัข แมว เป็นต้น เป็นประจำทุกปี และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ผู้สัมผัสโรค
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีการจัดตั้ง “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” หรือกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลโดยดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งเทศบาล และ อบต. ที่เข้าร่วม เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ สถานบริการ หน่วยงานสาธารณสุข หรือหน่วยงานอื่น รวมถึงองค์กรประชาชนที่ดำเนินกิจกรรมด้านสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกรณีสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าที่เกิดขึ้นนี้ อปท. สามารถนำงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลเพื่อสนับสนุนโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และสำนัก/กอง/ส่วนสาธารณสุขฯ ในเทศบาล หรือ อบต. จัดทำโครงการรณรงค์ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า” เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการ ลดอุบัติการณ์ติดเชื้อและเสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้านี้ได้
ซึ่งเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2557 ในข้อ 7 (5) ที่ระบุให้นำเงินกองทุนจ่ายใช้จ่ายกรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ได้ โดยมีคณะกรรมการกองทุนพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินกองทุนเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขได้ตามความจำเป็นเหมาะสม และทันต่อสถานการณ์ ขณะที่การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในตัวสัตว์เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นโดยตรง
“กรณีการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่คุกคามสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ขณะนี้ โดย อปท. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดสามารถนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลเพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้ตามระเบียบที่กำหนดไว้ ปัจจุบันมีเทศบาล และ อบต. เข้าร่วมดำเนินการกองทุนฯ แล้วจำนวน 7,736 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 99.49 ของ อปท. ทั้งประเทศ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีผู้ที่ถูกสุนัขกัดหรือสัมผัสน้ำลายสุนัขที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการรักษาและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่โรงพยาบาลของรัฐที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาครั้งแรก กรณีเข้ารับการฉีดวัคซีนครั้งต่อไปในโรงพยาบาลที่ไม่ได้ลงทะเบียนใช้สิทธิบัตรทองไว้ อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่าย ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ตรวจสอบสิทธิของตนเองได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือสายด่วน สปสช. โทร. 1330 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า สปส. ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน ได้เตรียมความพร้อมโดยประสานให้สถานพยาบาลคู่สัญญาและเครือข่ายทั่วประเทศเตรียมรับผู้ประกันตน หากผู้ประกันตนประสบเหตุถูกสุนัขกัดในกรณีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคมขอแนะนำให้ผู้ประกันตนที่ถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยใช้สิทธิประกันสังคมได้ และผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ตนเองเลือกโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หากไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่ตนเองเลือกได้ ควรรีบเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยฉีดวัคซีนเข็มแรก ณ โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก่อน แล้วนำใบเสร็จรับเงินที่สำรองจ่ายไปก่อน พร้อมใบรับรองแพทย์มาเบิกคืนได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทุกแห่งที่สะดวก
สำหรับผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลของรัฐ ประเภทผู้ป่วยนอกสามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์ได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น กรณีผู้ประกันตนเข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลเอกชนประเภทผู้ป่วยนอก สามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินครั้งละ 2,000 บาท และจ่ายเพิ่มตามรายการการรักษาที่กำหนดตามหลักเกณฑ์ หากผู้ประกันตนมีปัญหาข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม 1506 ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง