xs
xsm
sm
md
lg

โรงงานเมิน “ผู้ประกันตน” หลังตรวจสุขภาพพบเสี่ยงป่วย ชงใช้งบป้องกันโรค “บัตรทอง” ร่วมดูแล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตรวจสุขภาพ “แรงงาน - ผู้ประกันตน” ปัญหาอื้อ กลุ่มเสี่ยงจะป่วยไม่ได้รับการดูแลต่อ เข้าไม่ถึงการตรวจคัดกรองป้องกันโรคของ สปสช. ทั้งที่มีสิทธิในงบรายหัว สุดท้ายป่วยหนักและต้องตายไป อดีต กก.กองทุนเงินทดแทนแนะใช้งบส่งเสริมป้องกันโรค สปสช.พัฒนาห้องพยาบาลโรงงาน ให้คำแนะนำผู้ประกันตนก่อนเจ็บป่วย

วันนี้ (13 มี.ค.) ที่โรงแรมทีเค พาเลซ ในเวทีเสวนา “การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มาตรา 63 (2) ที่เหมาะสมกับผู้ประกันตนคืออะไร?” ทพญ.มาลี วันทนาศิริ เครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข กล่าวว่า นิยามการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของสิทธิประกันสังคม ยังต่างจากสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยสิทธิบัตรทองจะเน้นเรื่องสร้างเสริมความตระหนักและการดูแลสุขภาพของตนเอง และให้บริการทางการแพทย์โดยตรงเพื่อไม่ให้เกิดโรค โดยจะมีการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเพื่อสร้างเสริมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้คำปรึกษาเพื่อไม่ให้เป็นโรคในอนาคต ซึ่งตรงนี้ สปสช. สามารถดำเนินการได้ในทุกสิทธิ เพราะงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคนั้นมาจากประชากรทุกคนในประเทศ ส่วนของประกันสังคมนั้น กิจกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการแพทย์กำหนด ขณะที่การตรวจสุขภาพตามสิทธิการส่งเสริมสุขภาพฯ ของประกันสังคมก็จะแยกได้เพียงคนปกติและคนป่วย แต่คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง คือ ผลการตรวจสุขภาพที่ใกล้แตะจะเป็นคนป่วยกลับหายไป เพราะไม่มีการต่อยอดในการดูแลสุขภาพต่อว่าจะทำอย่างไรให้ไม่ป่วย หรือไม่มีการอ่านค่าผลการตรวจสุขภาพและให้คำแนะนำ ขณะเดียวกันแม้ผู้ประกันตนจะมีสิทธิได้รับการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงจากโครงการของ สปสช. แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึง เพราะหน่วยงานที่มาตรวจเป็นหน่วยงานรัฐมาในเวลาราชการ ก็จะไม่เจอกับผู้ประกันตนที่ทำงานอยู่ดี

ทพญ.มาลี กล่าวว่า เรื่องนี้ตนมีข้อเสนอ คือ กิจกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนดนั้น คณะกรรมการการแพทย์ควรกำหนดกิจกรรมให้มีการจัดบริการดูแล ปรึกษา ปรับพฤติกรรมสุขภาพรายบุคคลตามผลการตรวจสุขภาพทั้งจากสิทธิการตรวจสุขภาพของประกันสังคม คือ การตรวจทั่วไปจากการใช้ชีวิตประจำวัน และการตรวจสุขภาพตามที่สถานประกอบการจัดให้มีขึ้นตามกฎหมาย คือ การตรวจสุขภาพโรคจากการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ ประเด็นรายละเอียดกิจกรรมบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคก็ยังแตกต่างกัน โดยประกันสังคมมองวาจะต้องส่งเสริมเรื่องการฝากครรภ์ และควรมีการตรวจประเมินสุขภาพจิตด้วย เนื่องจากการทำงานมีโอกาสเกิดภาวะเครียดและซึมเศร้าได้

นายนิคม สองคร องค์กรแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่ใช่แค่การตรวจสุขภาพของประกันสังคม แม้แต่การตรวจสุขภาพของสถานประกอบการตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ก็พบว่า เมื่อตรวจพบความเสี่ยงที่จะเป็นโรคในอนาคต สถานประกอบการก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อเพื่อป้องกันไม่ให้คนงานป่วย

นายทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวว่า จากการทำงานกับเครือข่ายแรงงานอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ พบว่า ปัญหาโรคจากการทำงานเยอะมาก เพราะหลายคนมีปัญหาสุขภาพ ทั้งทำงานสิ่งทอ ทำงานเซรามิก บางคนป่วยเป็นมะเร็งก็มี อย่างปี 2560 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยคนหนึ่งทำงานเซรามิก ตอนทำมีการตรวจสุขภาพแต่ก็ไม่พบว่าป่วยเป็นอะไร และไม่มีการประเมินความเสี่ยงเกิดโรค สุดท้ายป่วยมีปัญหาปอดและเสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย ถามว่าถ้ามีระบบตรวจสุขภาพแบบมีมาตรฐานจะดีกว่านี้หรือไม่ และจะป้องกันโรคได้มากกว่าที่ผ่านมา แต่ยังมีตัวเลขที่ไม่ทราบอีกเยอะ เพราะที่ผ่านมาภาครัฐไม่เคยรวบรวมหรือให้ความสำคัญตรงจุดนี้

พล.ท.นพ.สิริชัย รัตนวราหะ อดีตคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ชุดที่ 9 กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีงบกองทุนสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งเป็นงบรายหัวคำนวณจากประชากรทั้งประเทศ ทุกสิทธิการรักษา ปี 2560 อยู่ที่ 415 บาทต่อคน แต่ผู้ประกันตนกลับไม่เคยได้ใช้สิทธินี้ เพราะการบริหารจัดการงบดังกล่าวจะไปอยู่ที่ชุมชน แต่ผู้ประกันตนอยู่ที่โรงงาน ทำให้ขาดโอกาสในการคัดกรองความเสี่ยงของโรคต่างๆ ที่สำคัญเรามีโรงงานทั่วประเทศกว่า 4-5 แสนแห่ง หากมีการจัดการเรื่องนี้คนงานจะได้ประโยชน์มากมายมหาศาล ดังนั้น สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จึงควรประสานและขจัดช่องว่างตรงนี้ โดยต้องหารือกับ สปสช. ว่า จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร

พล.ท.นพ.สิริชัย กล่าวว่า ตนเสนอว่าทางออกหนึ่งคือ อาจใช้งบส่วนนี้ในการพัฒนาห้องพยาบาล พัฒนาพยาบาลให้มีความสามารถในการอ่านค่าผลการตรวจสุขภาพ ให้คำแนะนำต่างๆ ไม่ใช่ตรวจเสร็จพบโรคก็ไม่ส่งต่อ หรือพบว่ามีความเสี่ยงจะเป็นโรคก็ไม่ให้คำแนะนำเพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยในอนาคต ซึ่งหากทำได้น่าจะดี โดยตนเคยเสนอไปทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว เพราะเรื่องไพรมารีแคร์หรือการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ความสำคัญก็ควรมีการเดินหน้าแบบครบวงจรจริงๆ และควรปฏิรูปการดูแลส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในผู้ประกันตนอย่างเป็นรูปธรรม

นพ.อำนวย กาจีนะ คณะกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ตนรับเรื่องทั้งหมดและจะนำเข้าสู่การพิจารณา เพื่อให้ผู้ประกันตนได้สิทธิอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ปัญหาโรคจากการทำงานมีมาตลอด และทาง สปส.ก็เห็นความสำคัญ ล่าสุดได้หารือกับทางสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค(คร.) ซึ่งทราบว่าเตรียมจะประสานกับทางกระทรวงแรงงาน ในการปรับรูปแบบการตรวจสุขภาพให้ครอบคลุม และแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเสวนามีผู้แทนจากสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ได้นำเสนอข้อมูลว่า ที่ผ่านมาสำนักโรคจากการประกอบอาชีพมีการลงนามความร่วมมือกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม ในการนำผลการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตนในสถานประกอบการมาพิจารณาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการทำงาน ยิ่งหากมีความเจ็บป่วยเกิดขึ้นก็จะมีการเข้าไปสอบสวนโรคในพื้นที่ เพื่อป้องกันการเกิดเหตุเจ็บป่วยซ้ำ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการเข้าไปสอบสวนโรคเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น