xs
xsm
sm
md
lg

จ่อชง 3 นโยบาย “เรียนรวม” เด็กปกติ-พิการ-ด้อยโอกาส ชี้ต้องแก้ 6 เรื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สกศ. เผยผลวิจัย “การเรียนรวม” คนพิการ - ด้อยโอกาส - คนปกติ ต้องเร่งแก้ 6 ปัจจัย ทั้งผู้บริหาร ลดความต่างของเด็ก จัดการสอนแบบยืดหยุ่น เตรียมทำข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 ระดับชง รมว.ศธ.

ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า สกศ. ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมและจัดการศึกษาที่มีความเชื่อมโยงทั้งผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และ บุคคลปกติในสถานศึกษาเดียวกัน ไม่แยกส่วนการเรียนเหมือนปัจจุบัน โดยเน้นสถานศึกษาควรดูแลเด็กทั้งระบบภายใต้ความร่วมมือทั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ และทุกภาคส่วน และตรงตามวัตถุประสงค์ที่บัญญัติไว้ชัดเจนในแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2579 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา เร่งพัฒนาระบบและกระบวนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการวิจัยความทั่วถึงและเท่าเทียมของการจัดการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อทบทวนการนำนโยบายการจัดการศึกษาแบบทั่วถึงและเท่าเทียมสู่การปฏิบัติ และจัดทำข้อเสนอนโยบายการจัดการศึกษาดังกล่าวที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย พบว่า มี 6 ปัจจัยสำคัญนำไปสู่การเป็นสถานศึกษาแบบเรียนรวม ประกอบด้วย

1. ผู้บริหารสถานศึกษามีภาวะความเป็นผู้นำสูง วิสัยทัศน์กว้างไกล และปรับใช้นโยบายสู่การปฏิบัติได้ 2. ความเสมอภาคของผู้เรียน ลดความแตกต่างระหว่างภูมิหลัง และประสบการณ์สำคัญของผู้เรียนให้เหลือน้อยที่สุด มีความยืดหยุ่นในการจัดนักเรียนเข้าเรียน 3. การจัดการชั้นเรียนรวมเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสกว้างในการพัฒนาทักษะสังคม ภาษา ปัญญา และเน้นกลยุทธ์สนับสนุนให้นักเรียนทุกคนเรียนรู้ในชั้นเรียนรวมให้มากที่สุด 4. การจัดการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่น ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญใช้งานวิจัยเป็นพื้นฐานในการจัดการเรียนรู้ 5. ส่งเสริมครูมีความรู้ควบคู่กับความรู้ด้านนโยบายและกฎหมาย และมีจิตวิญญาณความเป็นครูที่ดีสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ดี และ 6. ส่งเสริมความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ พ่อแม่ ผู้ปกครอง สถานศึกษาอื่นๆ องค์กรวิชาชีพ สร้างความร่วมมือในการระดมทรัพยากรทั้งทางกายภาพ ทรัพยากรบุคคล และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทุกฝ่าย สร้างความรู้สึกมีเพื่อนร่วมเส้นทางเดียวกัน 

ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวว่า ข้อค้นพบจากงานวิจัยดังกล่าว สกศ. จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 ระดับคือ ระดับชาติ ระดับพื้นที่ และระดับสถานศึกษา ภายใต้แนวคิดก้าวไปข้างหน้า ขับเคลื่อนอย่างมั่นคง และขยายโอกาสเด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเต็มศักยภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพแข่งขันได้ในระดับโลกภายในปี 2573 โดยเสนอแนะให้ผู้บริหารการศึกษาระดับนโยบายนำผลการวิจัยมาใช้ทบทวนนโยบายการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม พร้อมพัฒนาปรับใช้นโยบายการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม โดยกระจายอำนาจในการขับเคลื่อนลงสู่ท้องถิ่น ส่งเสริมผู้บริหารการศึกษาระดับพื้นที่ขับเคลื่อนแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติในการปรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานกระแสหลักให้เป็นสถานศึกษาแบบเรียนรวมเต็มรูปแบบตามนโยบายระดับชาติและส่งเสริมผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พัฒนาสถานศึกษาเป็นสถานศึกษาแบบเรียนรวมเต็มรูปแบบด้วยแนวคิดเชิงนวัตกรรมให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และนำเข้ามามีส่วนร่วมในการวางระบบงาน พร้อมให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน ทั้งนี้ สกศ.จะสรุปข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทั้งหมดจากงานวิจัยนี้จัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษาแบบทั่วถึงและเท่าเทียมสู่การปฏิบัติ ซึ่งจะได้รายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลำดับต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น