ครม. เห็นชอบแผนการศึกษาชาติ 20 ปี เตรียมขับเคลื่อน 4 เฟส หนุนคนไทยรับการศึกษา - เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ดันไทยข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
วันนี้ (14 มี.ค.) ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 มี.ค. 2560 ได้มีมติเห็นชอบอนุมัติแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2579 หรือแผนการศึกษาชาติ 20 ปี ทั้งนี้ แผนการศึกษาแห่งชาติดังกล่าวจะขับเคลื่อนภายใต้วิสัยทัศน์คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21 โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ข้อ คือ 1. เพื่อพัฒนาระบบและกระบวนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ 2. เพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นพลเมืองดี มีคุณลักษณะ ทักษะและสมรรถนะที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ชาติ
3. เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และคุณธรรมจริยธรรม รู้รักสามัคคี และร่วมมือผนึกกำลังมุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ 4. เพื่อนำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และความเหลื่อมล้ำภายในประเทศลดลง โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สกศ. จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษา 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความเข้าใจการดำเนินงานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ทั่วประเทศ รองรับการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติในทิศทางเดียวกัน
“ภายหลังที่ประชุม ครม. ได้ให้ความเห็นชอบแผนการศึกษาชาติ 20 ปี พร้อมได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์แก่การพัฒนาการศึกษาชาติ ซึ่งทาง สกศ. จะได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) อีกครั้ง เพื่อปรับรายละเอียดบางประเด็นในแผนให้เกิดความสมบูรณ์และเกิดผลกระทบในวงกว้างยิ่งขึ้น โดยดำเนินการระยะเร่งด่วน ปี 2560 - 2561 จากนั้นวางกรอบดำเนินงาน 4 ระยะ เฟสละ 5 ปีคือ เฟสแรก ปี 2560 - 2564 เฟสที่ 2 ปี 2565 - 2569 เฟสที่ 3 ปี 2570 - 2574 และเฟสสุดท้าย 2575 - 2579 เน้นการขับเคลื่อนแผน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญและพร้อมเข้าร่วมในการผลักดันแผนการศึกษาชาติ 20 ปี สู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม สร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนการศึกษาชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล แผนพัฒนาการศึกษา ระยะ 5 ปี แผนปฏิบัติราชการ ระยะ 4 ปี และแผนปฏิบัติการประจำปีของทุกหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการปรับปรุงกฎ ระเบียบ และกฎหมายต่างๆ ให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาในระดับต่างๆ และสร้างช่องทางให้ประชาสังคมมีโอกาสแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างกว้างขวางทั้งระดับนโยบายและพื้นที่” เลขาธิการ สกศ. กล่าว