xs
xsm
sm
md
lg

ประกันสังคมเดินหน้าประชาพิจารณ์ “ขยายอายุรับเงินบำนาญ” คปค.จี้เลือกตั้งบอร์ด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปส. เดินหน้าประชาพิจารณ์ขยายอายุรับเงินบำนาญ จ.ขอนแก่น ด้าน คปค. จี้ ปฏิรูปเลือกตั้งบอร์ด สปส. ให้ผู้ประกันตนได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในบอร์ด ช่วยเห็นปัญหาเพิ่มขึ้น บี้ตั้ง คกก. การลงทุน ให้ได้ผลกำไรเข้ากองทุนมากขึ้น จนไม่ต้องขยายอายุรับเงินบำนาญ

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงความคืบหน้าการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ กองทุนประกันสังคม หลังดำเนินการประชาพิจารณ์ไปแล้ว 6 ครั้ง จากทั้งหมด 12 ครั้ง ว่า สปส. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคม ครั้งที่ 7 ในระหว่างวันที่ 30 - 31 ตุลาคม 2560 ณ โรงแรมพลูแมน ขอนแก่นราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น พร้อมระดมความคิดเห็น นายจ้าง ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ผู้ประกันตนมาตรา 39 และเจ้าหน้าที่จากส่วนราชการ ใน 10 จังหวัดภาคอีสาน กว่า 400 คน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานปรับปรุงการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ โดยวันที่ 30 ตุลาคม เป็นการบรรยายเรื่อง การให้ความคุ้มครองประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยนายอารักษ์ พรหมณี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 จะมีพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ หลังการบรรยายผู้เข้าร่วมรับฟัง จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอแนวทาง หรือความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบบำนาญของสำนักงานประกันสังคมเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างเป็นรูปธรรม

นพ.สุรเดช กล่าวว่า สำหรับข้อคิดเห็น และแนวคิดที่ได้รับจากการประชุม ซึ่งได้กำหนดจัดขึ้นทั้งหมด 12 ครั้ง สำนักงานประกันสังคมจะนำมาศึกษาวิเคราะห์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานปรับปรุงการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ ให้เป็นไป อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ตรงตามความต้องการของสมาชิกกองทุนฯ อย่างแท้จริง และยึดประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น สามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการประชุมรับฟัง ความคิดเห็นและแสดงความคิดได้ที่ www.sso.go.th ของสำนักงานประกันสังคม

ด้าน นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า วันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ คปค. จะมีการหารือร่วมกับเครือข่ายแรงงานต่างๆ ที่สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศ จ.สมุทรปราการ เพื่อหารือถึงการปฏิรูปกองทุนประกันสังคม โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการขยายอายุรับเงินบำนาญ การเพิ่มเงินสมทบ และการเลือกตั้งบอร์ด สปส. เนื่องจากเป็นประเด็นที่ต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ เพราะหากบอร์ด สปส.มีผู้ประกันตนเข้ามาในสัดส่วนที่เหมาะสม ก็จะทำให้เห็นปัญหาของผู้ประกันตนแท้จริง ส่วนเรื่องการนำเงินไปลงทุนเพื่อให้กองทุนเพิ่มพูนนั้น ก็ต้องมีการตั้งคณะกรรมการการลงทุนขึ้นมา โดยต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการบริหารจัดจริงๆ มาบริหารการลงทุนจุดนี้ แต่ที่ผ่านมา สปส. ไม่มี หากที่ผ่านมาเรามีมืออาชีพบริหารจัดการ การลงทุนและผลกำไรอาจมากกว่าปัจจุบัน และอาจไม่ต้องขยายอายุรับบำนาญด้วยซ้ำ แต่เพราะ สปส. บริหารโดยข้าราชการมาตลอด ความเป็นอิสระก็ไม่ค่อยมี ติดกับดักกฎหมายต่างๆ หากจะปฏิรูปต้องทำทั้งโครงสร้าง

“อย่างกฎหมายประกันสังคมก็เขียนแบบมีเงื่อนไขมากมาย เช่น เกษียณอายุ 55 ปี สมมติมีเงินออม 200,000 บาท แต่เสียชีวิตภายใน 5 ปี ก็จะได้รับเงินชดเชย 10 เท่าจากเงินบำนาญ แต่เงินออมที่เหลือก็เข้ากองทุน เพราะ สปส. เขียนกฎหมายลักษณะเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เอาเงินที่เหลือให้คนอายุยืนแทน แต่หากเสียชีวิตหลังจากเกษียณไปแล้วเกิน 5 ปี จะไม่ได้อะไรเลย กฎหมายแบบนี้ต้องปรับเปลี่ยน หรือแม้แต่การรับฟังความคิดเห็นขยายอายุรับบำนาญ เปิดให้แสดงความคิดเห็น แต่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างกลุ่มแรงงานแม้ได้รับเชิญ แต่ไม่ได้ให้ขึ้นเวทีเพื่อเสนอความคิดเห็น ให้ไปแสดงความเห็นผ่านแบบฟอร์ม ที่เปิดในเว็บไซต์ว่าจะเลือกแนวทางใดใน 4 แนวทาง ซึ่งมองว่าไม่ถูกต้อง” นายมนัส กล่าว

นายมนัส กล่าวว่า ในการเลือกตั้งบอร์ด สปส. จึงถือเป็นอีกทางเลือกเพราะจะทำให้ผู้ประกันตนได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในบอร์ด ได้มีโอกาสพูดถึงปัญหา โดยทาง คปค. ได้เสนอแนวทางในการเลือกตั้งใหม่ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไปแล้วที่จะลดงบประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งทราบว่าขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของอนุกรรมการยกร่างเกี่ยวกับการเลือกตั้งบอร์ดสปส. ที่จะหมดวาระในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ โดยแนวทางคือ ให้เลือกผู้ประกันตนแต่ละจังหวัดขึ้นมาในสัดส่วน 150,000 ต่อผู้ประกันตน 1 คน ซึ่งเป็นตัวเลขตามที่เคยมีการเลือกตั้งมาก่อน ยกตัวอย่าง สมุทรปราการมีผู้ประกันตน 600,000 คน ก็ต้องเลือกตัวแทนมา 3 คน และค่อยมาคัดเลือกในระดับประเทศ เพื่อให้ได้ตัวแทน 7 คน ขณะที่นายจ้างก็เสนอในสัดส่วน 5,000 ต่อ 1 คน โดยจะได้ตัวแทนนายจ้างอีก 7 คน ภาครัฐอีก 7 คนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งบอร์ดนี้จะมี 21 คน จากเดิมทั้งหมด 15 คน ซึ่งตรงนี้ก็ต้องมารอดูว่าทางสปส.จะดำเนินการอย่างไร ส่วนเรื่องเวทีประชาพิจารณ์มองว่ายังไม่ครอบคลุม เพราะเครือข่ายแรงงานแทบไม่ได้มีส่วนในการเสนอข้อคิดเห็น อย่างการขึ้นเวทีไปพูดก็ไม่ได้รับอนุญาต ให้เพียงแค่แสดงความเห็นผ่านแบบฟอร์มของ สปส.
กำลังโหลดความคิดเห็น