xs
xsm
sm
md
lg

ผลตอบแทนกองทุนประกันสังคมปี 60 สูง 2.5 หมื่นล้าน ย้ำลงทุนเพื่อความมั่นคง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปส. แจงใช้เงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุน ต้องผ่านบอร์ด พร้อมเสนอรายรับจ่ายให้ สตง. ตรวจสอบ ก่อนเสนอ ครม. ชี้ ลงทุนเพื่อความมั่นคงของกองทุนและผู้ประกันตน เผยปี 60 ผลตอบแทน 2.5 หมื่นล้านบาท

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานของกองทุนประกันสังคม มีสถานะเงินลงทุน ณ 30 มิถุนายน 2560 มีเงินสมทบ และผลตอบแทนสะสมเป็นจำนวนเงิน 1,636,549 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินสมทบ 1,144,982 ล้านบาท ผลตอบแทน 491,567 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง ร้อยละ 5.06 ทั้งนี้ ผลตอบแทนจากการลงทุนที่รับรู้แล้ว ตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน 2560 เป็นจำนวน 25,223 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงาน สปส. ได้มีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ อาทิ จำนวนการใช้บริการของผู้ประกันตน ทั้ง 7 กรณี อัตราการใช้บริการทางการแพทย์ จำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 จำนวนสถานประกอบการ รวมทั้งข้อมูล การลงทุนผ่านทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th

นพ.สุรเดช กล่าวว่า ส่วนกรณีข้อท้วงติงนำเงินมาใช้ประโยชน์ช่วยเหลือผู้ประกันตนที่เดือดร้อน ดีกว่าไปลงทุนในหุ้น ซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำ และไม่เคยบอกประชาชนนั้น ขอชี้แจงว่า การลงทุนของ สปส. เป็นไปตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม การจัดตั้งกองทุนประกันสังคมและมีเจตนารมณ์เพื่อวางพื้นฐาน สร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้ และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม รวมถึงรับผิดชอบในความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการรักษาพยาบาล และมีการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีข้อบัญญัติให้ผู้ประกันตนกู้เงิน ซึ่งหากให้ สปส. นำเงินสมทบมาใช้หนี้นอกระบบ หรือเรื่องอื่นๆ จะทำให้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งการนำเงินสมทบให้ผู้ประกันตนกู้ยืมนั้น จะต้องใช้องค์ความรู้และเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้และความชำนาญด้านการวิเคราะห์สินเชื่อเป็นการเฉพาะ เพราะต้องมีการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงรายบุคคล

“การนำเงินสมทบไปลงทุนเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม มีคณะอนุกรรมการการบริหารการลงทุน และคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุนที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความเสี่ยงและการลงทุน ประกอบด้วย ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นักวิชาการอิสระร่วมให้คำแนะนำ และกำกับการลงทุน อีกทั้งงบดุล และรายงานการรับจ่ายเงินกองทุนประกันสังคมต้องส่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อตรวจสอบ และรับรองก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา” เลขาธิการ สปส. กล่าว

นพ.สุรเดช กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมได้นำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนโดยลงทุนในหลักทรัพย์ที่มั่นคงสูงร้อยละ 81 (หุ้นสามัญพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลัง ไม่ค้ำประกัน หน่วยลงทุนผสมตราสารหนี้ ตราสารทุนต่างประเทศ และหน่วยลงทุนอสังหาฯ โครงสร้างพื้นฐาน ทองคำ) ลงทุนหลักทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 19 (พันธบัตรรัฐบาล ธปท. รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน หุ้นกู้เอกชน หรือ securitized debt ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เงินฝาก และหน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ)
กำลังโหลดความคิดเห็น