xs
xsm
sm
md
lg

มีผลแล้ว! ปลดล็อก “ค่ารักษาพยาบาล” ให้นายจ้างจ่ายไม่เกิน 2 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.แรงงาน ออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ “กำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่ายแทนลูกจ้าง” เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ ตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษาไม่เกิน 2 ล้านบาท

วันนี้ (24 ก.ค.) มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ลงนาม โดย พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ไว้ ณ วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2560 โดยที่การกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาล ที่ให้นายจ้างจ่ายตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2558 ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ เป็นการกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลให้แก่ลูกจ้าง กรณีเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ ให้สอดคล้องกับลักษณะของการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างที่จะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษา แต่ไม่เกินสองล้านบาท เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ กฎกระทรวงฉบับนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง และมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกกฎกระทรวงไว้ โดยให้ยกเลิกความในข้อ 6 แห่งกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 6 ในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 5 สำหรับลูกจ้างรายใดไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้น โดยเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาล ตามข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5 แล้ว ต้องไม่เกินหนึ่งล้านบาท เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นที่เพิ่มขึ้นจนสิ้นสุดการรักษา แต่ไม่เกินสองล้านบาท (1) ลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษา (2) ลูกจ้างมีความจำเป็นหรือมีเหตุสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรก แต่ภายหลังได้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ การจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ”

ท้ายกฎกระทรวงฉบับนี้ ระบุด้วยว่า ให้ใช้บังคับรวมถึงลูกจ้างที่ประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และยังคงรักษาพยาบาลอยู่จนถึงวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ

มีรายงานจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ว่า กฎกระทรวงดังกล่าวจะปลดล็อกปัญหา เรื่อง อัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีลูกจ้างประสบอุบัติเหตุในระหว่างทำงาน ซึ่งหลายรายได้รับบาดเจ็บรุนแรงและประสบปัญหาค่ารักษาพยาบาล เนื่องจากเดิมทีกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาตามความเป็นจริง แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่ในรายที่อาการรุนแรงมากๆ วงเงิน 1 ล้านบาทไม่เพียงพอ ยิ่งรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ยิ่งมีราคาแพง จึงเห็นชอบในหลักการให้เพิ่มขึ้นเกิน 1 ล้านบาท

“กฎกระทรวงดังกล่าวจะช่วยกรณีลูกจ้างที่มีอาการรุนแรงมากๆ และจำเป็นต้องรักษาเพิ่มเติมด้วยวงเงินเกิน 1 ล้านบาทนั้น หากนายจ้างที่เป็นบริษัทใหญ่ๆ ก็จะสามารถดูแลต่อเนื่องได้ แต่หากนายจ้างที่เป็นบริษัทเล็กๆ จะไม่สามารถดูแลได้ตรงจุดนี้ สปส. ก็จะเข้าไปดูแลโดยให้รักษาต่อในสถานพยาบาลของรัฐเท่านั้น โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบหมายว่า ควรปรับเพิ่มขึ้นเกิน 2 ล้านบาทด้วย เพื่อให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบรุนแรงได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่”

กำลังโหลดความคิดเห็น