xs
xsm
sm
md
lg

จัดประชุมวิชาการ “บุหรี่” ภัยความมั่นคง ทำคนไทยตายปีละ 5 หมื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศจย.- สสส. เตรียมจัดประชุมวิชาการ “บุหรี่” ภัยต่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เหตุก่อโรคมะเร็งกว่า 12 ชนิด ทำคนไทยตายปีละ 50,000 คน

วันนี้ (24 ก.ค.) ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดย นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และ ดร.นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการแผนกโรคไม่ติดต่อและอนามัยสิ่งแวดล้อม องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้ - ตะวันออก ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังเปิดการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 เรื่อง “บุหรี่ : ภัยคุกคามต่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” จัดโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยได้พยายามพัฒนานวัตกรรมทางกฎหมาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการควบคุมการบริโภคยาสูบและการแพร่ระบาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยยึดโยงกับสาระสำคัญ ข้อกำหนด และแนวปฏิบัติ ของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO-FrameworkConvention on Tobacco Control : WHO-FCTC) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีตามกรอบอนุสัญญาดังกล่าว โดย “พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560” ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2560 และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้รับทราบเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 5เมษายน 2560 โดยมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา

“สำหรับเหตุผลที่ต้องมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มีเหตุผลสำคัญ 4 ประการ กล่าวคือ 1) กำหนดมาตรการทางกฎหมาย โดยมุ่งหมายปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน ให้ห่างไกลจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งถือเป็นสินค้าเสพติดที่ทำลายสุขภาพ (ห้ามขาย ให้ ผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปี จากเดิม 18 ปี และห้ามธุรกิจยาสูบทำกิจกรรมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม ให้การอุปถัมภ์ หรือให้การสนับสนุนทั้งที่เป็นตัวเงิน/ไม่ใช่ตัวเงิน)

 2) ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยาสูบให้มีมาตรการทางกฎหมายที่ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ และสภาพปัญหารวมถึงกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจยาสูบรูปแบบใหม่ๆ ในการเพิ่มจำนวนนักสูบหน้าใหม่ (การขยายบทนิยามผลิตภัณฑ์ยาสูบให้มีความหมายกว้างขึ้นจากกฎหมายฉบับเดิม เพื่อให้สามารถดำเนินการควบคุมผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบที่กำลังแพร่หลายในปัจจุบันเช่น บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นต้น) และ 3) กำหนดมาตรการในการคุ้มครองสิทธิและสุขภาพในสถานที่สาธารณะของประชาชนผู้ไม่สูบบุหรี่ (ในกรณีที่มีผู้ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท จากเดิม 2,000 บาท) จึงถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการใช้มาตรการกฎหมาย เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชนจากยาสูบ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนซึ่งจะเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต” นพ.สุเทพ กล่าว

ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า การพัฒนาประเทศไทยยุค 4.0 นี้ คือ ยุคที่ต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศไทยให้มั่นคง มั่งคั่ง และ ยั่งยืน แต่การพัฒนาประเทศไทยนี้จะสำเร็จได้ยากหากประชาชนและเยาวชนยังเสพติดบุหรี่มากมายดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องด้วยบุหรี่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ดังนี้ บุหรี่ได้ทำลายสุขภาพและชีวิตของวัยแรงงานของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ โดยบุหรี่ทำให้เกิดโรคมะเร็งถึง 12 ชนิด รวมถึงโรคหัวใจ โรคเส้นเลือกสมอง โรคถุงลมโป่งพอง และเบาหวาน นอกจากนี้ บุหรี่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรค ตาบอด ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง และทุกอวัยวะแก่ก่อนวัยอันควร รวมถึงทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศด้วย มีคนไทย 1 ล้านคน ที่มีชีวิตอยู่แต่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่เกิดจากบุหรี่ บุหรี่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยถึงปีละ 50,000 คน คิดเป็นการเสียชีวิตวันละ 140 คน และผู้ที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่นี้เฉลี่ยแล้วอายุสั้นลง 12 ปี อีกทั้งยังป่วยหนักเฉลี่ย 2.5 ปีก่อนจะเสียชีวิต 

ในด้านภัยคุกคามต่อความมั่งคั่ง การสูญเสียจากการสูบบุหรี่ในประเทศไทยคำนวณแล้วคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ถึงปีละเกือบ 75,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 0.78% ของ GDP ของประเทศไทย ส่วนในด้านภัยคุกคามต่อความยั่งยืนนั้น บุหรี่กำลังจะทำลายเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศไทยอย่างรุนแรง โดยผลสำรวจในปี พ.ศ. 2557 พบว่า มีเยาวชนถึง 200,000 คน เป็นนักสูบหน้าใหม่ หรือ คิดเป็น 547 คนต่อวัน และยังพบว่าเยาวชนไทยที่ติดบุหรี่มีพฤติกรรมเสี่ยงอีกหลายประการที่เพิ่มขึ้นกว่าเยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่ เช่น ดื่มสุรา 3.5 เท่า ใช้ยาเสพติด 17.0 เท่า เที่ยวกลางคืน 3.2 เท่า มีเพศสัมพันธ์ 3.7 เท่า และเล่นการพนัน 3.3 เท่า เป็นต้น และที่สำคัญคือ เด็กไทยที่สูบบุหรี่ 7 ใน 10 คน จะเสพติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต ไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ บุหรี่จึงเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างแท้จริง ซึ่งข้อมูลล่าสุดปี พ.ศ. 2558 พบว่า มีคนไทยสูบบุหรี่อยู่ถึง 11 ล้านคน จึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและร่วมมือช่วยกันทำให้คนไทยเลิกสูบบุหรี่กันได้เป็นล้านๆ คนอย่างจริงจัง  ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว

ดร.นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการแผนกโรคไม่ติดต่อและอนามัยสิ่งแวดล้อม องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้ - ตะวันออก เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกขอชื่นชมรัฐบาลไทย และแสดงความยินดีกับสังคมไทยสำหรับกฎหมาย พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ที่จะเป็นกลไกหลักในการปกป้องประชาชนไทยจากพิษภัยจากบุหรี่ ซึ่งผลิตภัณฑ์ยาสูบจัดเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ผลลบจากการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบส่งผลต่อประเทศในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG ในเกือบทุกเป้าหมาย การลงทุนด้านยาสูบเป็นเรื่องที่สังคมได้ไม่คุ้มเสีย มูลค่าผลเสียในระยะยาวต่อสังคมโดยรวมจากภัยยาสูบสูงกว่าผลประโยชน์ที่มีหลายเท่า ยาสูบเป็นปัจจัยลบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่ประเทศไทยสูญเสียวัยทำงานไปถึงปีละประมาณ 30,000คน ผลทางสุขภาพจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบก่อภาระค่ารักษาพยาบาลทั้งต่อครอบครัวและสังคมไทยโดยรวมเป็นมูลค่าสูงกว่ามูลค่าภาษีสรรพสามิตที่รัฐบาลไทยจัดเก็บได้ ยาสูบยังก่อปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมทั้งคุณภาพของน้ำ ดิน การทำลายป่าไม้ และอากาศ อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการกำจัดความยากจน คุณภาพชีวิต การศึกษา ความปลอดภัย และความเหลื่อมล้ำในสังคม การควบคุมยาสูบอย่างจริงจัง ถือเป็นการลงทุนทางสังคมที่สร้างผลตอบแทนที่สูงมากคืนกลับให้กับสังคม ประชาชนที่ยากจนและเยาวชนเป็นกลุ่มประชากรที่ได้รับผลประโยชน์จากการควบคุมยาสูบเป็นพิเศษ ดังนั้น องค์การอนามัยโลกจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยผนวกการควบคุมยาสูบในกลไกในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

กำลังโหลดความคิดเห็น