ก.แรงงาน แจงพิสูจน์สัมพันธ์ “นายจ้าง - ต่างด้าว” ต้องรอบคอบ ป้องกันขนต่างด้าวเถื่อนเข้ามาใหม่ ใช้แรงงานเด็ก เสี่ยงค้ามนุษย์ได้ เผย 4 วัน ผ่านการคัดกรองกว่า 90,000 คน ไม่ผ่านกว่า 1,600 คน ด้าน สปส. แจ้งเปลี่ยนสถานที่คัดกรอง
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์การเป็นนายจ้าง ลูกจ้างแรงงานต่างด้าว จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อความรอบคอบ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้มีการขนคนเข้ามาใหม่ โดยคัดกรองว่าเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานอยู่กับนายจ้างก่อนวันที่ 23 มิ.ย. 2560 มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายหรือไม่ เช่น ใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี การใช้แรงงานบังคับ ใช้แรงงานเด็กอายุ 15 - 18 ปี ในงานที่เป็นงานห้าม รวมทั้งกรณีอายุเกิน 55 ปี เป็นต้น ซึ่งหากพิจารณาไม่รอบคอบจะมีผลเสียตามมา เช่น มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ซึ่งผิดกฎหมาย และอาจนำไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานได้ ทำให้เกิดความยุ่งยากทั้งต่อนายจ้างและแรงงานต่างด้าว ทั้งยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงและชื่อเสียงของประเทศชาติ โดยเฉพาะประเทศไทยมีกฎหมายว่าด้วยการใช้แรงงานเด็ก แรงงานประมง การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งประเทศไทยถูกกล่าวหาจากประเทศคู่ค้าว่ามีการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน
นายวรานนท์ กล่าวว่า การพิจารณาดังกล่าวนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยแล้วยังเป็นประโยชน์ต่อการพิสูจน์สัญชาติของประเทศต้นทางที่ให้ความร่วมมือในช่วงที่ผ่านมาอย่างดียิ่ง อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาที่หมักหมมมานาน การทำงานย่อมเกิดปัญหาความไม่สะดวกได้ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้มีการสรุปปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดความสะดวกแก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าวเป็นระยะ ซึ่งจากการพิสูจน์คัดกรอง 4 วันที่ผ่านมา ปรากฏว่า มีนายจ้างผ่านการคัดกรองกว่า 28,000 ราย แรงงานต่างด้าวผ่านการคัดกรองกว่า 90,000 คน ไม่ผ่านการคัดกรองกว่า 1,600 คน เนื่องจากไม่มีความสัมพันธ์การเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 และขาดคุณสมบัติด้านอายุ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเชื่อมโยงในการใช้แรงงานเด็กและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เป็นต้น
น.ส.อำพันธ์ ธุววิทย์ โฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปส. เปิดศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวในพื้นที่ กทม. จำนวน 4 ศูนย์ มีแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 78,543 คน ซึ่งขระนี้เป็นช่วงการตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์ ซึ่งนายจ้างจะนำแรงงานต่างด้าวมาสัมภาษณ์ที่สำนักงานประกันสังคมตามที่ได้ระบุไว้ในใบนัด แต่จากจำนวนแรงงานต่างด้าวที่มาขอขึ้นทะเบียนมีจำนวนมาก ส่งผลให้ สปส.กรุงเทพมหานครในบางพื้นที่ตามใบนัดไม่สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้ จึงมีการปรับเปลี่ยนสถานที่การให้บริการ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการติดต่อ ดังนี้ 1. สปส. กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 6 และ 7 ย้ายไปเปิดให้บริการพิสูจน์ความสัมพันธ์ที่สำเพ็ง 2 ถนนกัลปพฤกษ์ เขตบางแค 2. สปส. กรุงเทพมหานครพื้นที่ 8 - 10 และ 12 ย้ายไปเปิดให้บริการที่ศูนย์การค้าธัญญาปาร์ค ถนนศรีนครินทร์ เขตสวนหลวง และ 3. สปส. กรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 5 และ 11 ยังคงเปิดให้บริการตามที่ตั้งเดิม