ก.แรงงาน เชื่อ ยังมี “ต่างด้าวเถื่อน” หลงเหลือไม่มารับแจ้ง ย้ำหมดระยะเวลาชะลอโทษเอาผิดนายจ้างแน่ พร้อมดันต่างด้าวออกนอกประเทศ ย้ำ กลุ่มแอบจ้างต่างด้าวเถื่อนใหม่ยังเอาโทษได้อยู่ เผย ตรวจความสัมพันธ์แล้ว 2.3 หมื่นราย ผ่าน 2.2 หมื่นราย บางส่วนให้ตรวจมวลกระดูกพิสูจน์อายุเกิน 15 ปีจริง ที่เหลือมั่นใจแอบอ้าง เหตุตอบคำถามไม่ตรงกัน
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงจำนวนตัวเลขการรับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว 7.7 แสนคน ซึ่งสภาอุตสาหกรรม สภานายจ้าง และนักวิชาการ ชี้ว่า ไม่น่าสะท้อนความเป็นจริง ว่า ตนมองว่า เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ แต่ยังเชื่อว่ายังมีแรงงานต่างด้าวที่อยู่ใต้ดิน ไม่ได้มารับแจ้งในช่วงเวลาที่กำหนดอยู่ แต่คิดว่าไม่มาก ซึ่งในช่วงชะลอโทษถึง 31 ธ.ค. 2560 คงไม่สามารถเอาโทษ หรือผลักดันออกนอกประเทศได้ แต่เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาชะลอโทษ คือ วันที่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป ก็จะมีโทษหากยังผิดกฎหมายอยู่ อย่างไรก็ตาม การชะลอโทษจะให้เฉพาะแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยมาก่อนวันที่ 23 มิ.ย. 2560 ก่อน พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ประกาศใช้ ไม่รวมนายจ้างหรือสถานประกอบการที่แอบเอาแรงงานต่างด้าวเข้ามาใหม่ จะถือว่ามีความผิด หรือถ้าต่างด้าวแอบไปเปิดกิจการเป็นเจ้าของกิจการเอง ก็จะผิด พ.ร.บ. คนเข้าเมืองเช่นกัน
นายอนันต์ชัย กล่าวว่า สำหรับการตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์นายจ้างและลูกจ้างแรงงานต่างด้าว ตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค. - 6 ก.ย. 2560 โดยวันนี้ถือเป็นวันที่สองของการดำเนินการ โดยข้อมูลช่วงเวลา 14.00 น. ของวันที่ 9 ส.ค. พบว่า มีนายจ้างมาสัมภาษณ์เพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์แล้ว 7,243 ราย แรงงานต่างด้าว 23,532 ราย จำนวนนี้ผ่านการตรวจสอบ และออกใบรับรองความสัมพันธ์แล้ว 22,416 ราย ไม่ผ่าน 396 ราย เนื่องจากเจ้าหน้าที่มองว่า อายุแรงงานต่างด้าวต่ำกว่า 15 ปี จึงขอให้ไปตรวจมวลกระดูกและฟันที่สถานพยาบาลเพื่อพิสูจน์อายุ ส่วนอีกกลุ่มพบว่า ไม่น่าจะเป็นนายจ้างและลูกจ้างกันจริง เนื่องจากตอบคำถามไม่ตรงกันหลายข้อ จึงนัดให้มาพิสูจน์ในรอบ 2 ต่อไป
ทั้งนี้ สิ่งที่กังวลคือ ระยะเวลา 30 วัน ที่จะพิสูจน์ให้ได้ประมาณ 5 แสนคน แบบไม่แน่นมากเกินไป แต่เมื่อตัวเลขการรับแจ้งอยู่ที่ 7.7 แสนคน จึงต้องมีการเตรียมความพร้อม ว่า แต่ละหน่วยพิสูจน์ฯ จะทำได้มากน้อยแค่ไหน อย่างหน่วยฯ ที่กระทรวงแรงงาน สามารถพิสูจน์ได้วันละ 500 คน เสร็จเวลา 16.00 - 17.00 น. แต่บางหน่วยฯ อาจติดขัดอยู่ ซึ่งเราเตรียมแผนสำรองแล้ว หากศูนย์ไหนมีอัตรานายจ้างและลูกจ้างมาสัมภาษณ์มาก และเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ให้ ผอ. แต่ละแห่งประสานโดยตรงไปยังกรมการจัดหางาน ทางอธิบดีกรมการจัดหางานจะเร่งดำเนินการช่วยเหลือ โดยปรับเกลี่ยไปหน่วยฯ ที่ตรวจพิสูจน์จำนวนไม่มาก เป็นต้น และอาจมีการขยายเวลาจาก 30 วันออกไปอีก แต่ขอประเมินก่อน
“สำหรับการตรวจพิสูจน์สัญชาติหลังได้รับใบรับรองความสัมพันธ์แล้วนั้น มีความชัดเจนเพียงศูนย์ฯ ของพม่า 6 แห่งเท่านั้น คือ สมุทรสาคร 2 แห่ง สมุทรปราการ 1 แห่ง ระนอง 1 แห่ง แม่สอด จ.ตาก 1 แห่ง และแม่สาย จ.เชียงราย 1 แห่ง ที่เป็นการบริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว ทั้งพิสูจน์สัญชาติ ลงวีซ่า ตรวจสุขภาพ และออกใบอนุญาตทำงาน ส่วนที่จะเปิดเพิ่มอีก 3 แห่งของพม่าที่เชียงใหม่ นครสวรรค์ และ สงขลา ทางการพม่ากำลังพิจารณาสถานที่อยู่ ส่วนศูนย์พิสูจน์สัญชาติกัมพูชา 3 แห่ง มีความชัดเจนแค่ที่ กทม. จะเปิดที่สถานทูตกัมพูชา ส่วนระยอง และสงขลา อยู่ระหว่างพิจารณาสถานที่คาดว่าปลาย ส.ค. จึงจะชัดเจน” นายอนันต์ชัย กล่าว