ก.แรงงาน เตือนนายจ้างระวังนายหน้าเถื่อนจัดหาแรงงานต่างด้าว เรียกเก็บเงิน 9,000 - 12,000 บาท ย้ำนำเข้าต่างด้าวนายจ้างดำเนินการได้ด้วยตนเอง หรือใช้โบรกเกอร์ถูกกฎหมาย มี 84 แห่งทั่วประเทศ ลั่นเอาผิดโบรกเกอร์เถื่อนพ่วงฐานค้ามนุษย์
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงระหว่างการยื่นแจ้งการทำงานของแรงงานต่างด้าว ที่ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว 100 ศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งเปิดให้บริการแก่นายจ้างที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวโดยไม่มีเอกสารใดๆ ก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 มายื่นแบบคำขอจ้างคนต่างด้าว และพิสูจน์การเป็นนายจ้าง - ลูกจ้าง หากพบเป็นนายจ้าง - ลูกจ้างจริงนายจ้างจะได้รับหนังสือรับรองเพื่อให้ลูกจ้างคนต่างด้าวไปพิสูจน์สัญชาติ และขออนุญาตทำงานต่อไป ซึ่งนายจ้าง สถานประกอบการก็ได้มายื่นแบบคำขอจ้างคนต่างด้าวแล้วจำนวนกว่า 84,000 ราย ลูกจ้างคนต่างด้าวกว่า 290,000 คน
นายวรานนท์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปัญหา คือ มีกระบวนการนายหน้าเถื่อน อ้างกับนายจ้างหรือผู้ประกอบการว่าสามารถนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศได้ โดยเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในปริมาณสูงตั้งแต่ 9,000 - 12,000 บาท ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงแรงงานขอชี้แจงว่า ผู้ที่จะดำเนินการนำเข้าแรงงานได้นั้นมีเพียง 2 กลุ่ม คือ 1. นายจ้างนำเข้าด้วยตนเอง และ 2. ผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ (บริษัทนำเข้า) ซึ่งจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น จึงจะดำเนินการได้ และขอย้ำว่า พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มีบทลงโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“นอกจากนี้ หากผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถนําคนต่างด้าวมาทํางานกับนายจ้างในประเทศ หรือสามารถหาลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวให้กับนายจ้าง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งเงิน หรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 600,000 บาท ถึง 1,000,000 บาทต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน หรือทั้งจําทั้งปรับ และหากกระทําโดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป หรือโดยสมาชิกขององค์กรอาชญากรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้กึ่งหนึ่งอีกด้วย” นายวรานนท์ กล่าว
นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศจำนวน 84 แห่งทั่วประเทศ เป็นผู้รับอนุญาตฯในกรุงเทพฯ 39 แห่ง ส่วนภูมิภาค 45 แห่ง และขอย้ำเตือนกับนายจ้างและผู้ประกอบการให้ใช้บริการของผู้รับอนุญาตฯ ที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น หากผู้ใดพบเห็นหรือถูกกระบวนการนายหน้าเถื่อนหลอกลวง ขอให้แจ้งสำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 ในพื้นที่โดยทันที โทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 ซึ่งกรมการจัดหางานจะดำเนินการกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดทันที