กลุ่มผู้สูงอายุ-ผู้ประกันตน ยื่นฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน 3 กฎกระทรวง เหตุจัดสรรผลประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพที่ไม่เป็นธรรม
วันนี้ (19 ต.ค.) กลุ่มผู้ประกันตนที่รับผลประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ ประเภทบำนาญ และผู้ประกันตนที่ยังเป็นผู้ประกันตนอยู่ จำนวน 51 คน นำโดย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย และนายรังสรรค์ ทองดาษ พร้อมทนายความ เข้ายื่นคำฟ้อง รมว.กระทรวงแรงงาน ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้เพิกถอนกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (2538) เรื่องการกำหนดจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตน ม.33 ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650บาท เเละไม่เกิน 15,000 บาท 2. กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา เเละอัตราการจ่ายประโยชน์ทดเเทนกรณีชราภาพ พ.ศ. 2550 และ 3. กฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบประกันสังคม พ.ศ. 2556 เนื่องจากเห็นว่าไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์กฎหมายประกันสังคม ทำให้รัฐไม่ร่วมจ่ายกรณีชราภาพ การกำหนดเป็นเงินบำนาญเเบบอัตราตายตัว ไม่อิงดัชนีค่าครองชีพ ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของคนทำงานที่เกษียณอายุ ขาดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการนำผลประโยชน์จากการลงทุนมาจัดสรรจ่ายสิทธิประโยชน์ รวมทั้งไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพตามกับเเผนผู้สูงอายุเเห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564)
ทั้งนี้ น.ส.วิไลวรรณกล่าวว่า สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคม จะมีผู้สูงอายุเพิ่มปีละ 1 ล้านคน ครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุไม่มีเงินออมเลย ผู้สูงอายุเหล่านี้ต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อยจ่ายค่ายารักษาโรคยามเจ็บป่วย ผลของกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับจะกระทบต่อสิทธิผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวนประมาณ 10 ล้าน 7 แสนคน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จำนวน 1 ล้าน 3 แสนคน ทั้งที่สำนักงานประกันสังคมได้นำเงินในส่วนชราภาพไปลงทุนจำนวนมาก เเละได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนมากมาย จึงต้องมาร้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนกฎกระทรวง 3 ฉบับ และออกกฎกระทรวงใหม่โดยให้ รมว.แรงงานดำเนินการให้มีการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับประกันตนผู้สูงอายุในด้านสถิติและความจำเป็นความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีพ, การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ ควรคำนึงอัตราเงินเฟ้อ ดัชนีค่าครองชีพ และออกกฎกระทรวง มีการสำรวจประกันสังคมกรณีชราภาพโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกันสังคม ตั้งแต่ต้นให้แล้วเสร็จ 1 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา