xs
xsm
sm
md
lg

ประกันสังคมปัดเงินรายหัวน้อยทำ รพ.เอกชนลาออก เผยเพิ่มอัตราค่ารักษา “โรคซับซ้อน” กู้ รพ.รัฐขาดทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประกันสังคมปัด รพ.เอกชนลาออกจากระบบ เหตุเงินเหมาจ่ายน้อย เผย รพ.ยันฮี ลาออกเพราะต้องการเป็น รพ.เฉพาะทาง ชี้ รพ.รัฐขนาดใหญ่เจอปัญหาขาดทุนมากกว่า ปรับเกณฑ์จ่ายค่ารักษาโรคซับซ้อน กู้สถานการณ์แล้ว รพ.เอกชนรับอานิสงส์ด้วย

วันนี้ (28 ส.ค.) นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณี รพ.เอกชน 3 แห่ง ประกอบด้วย รพ.ยันฮี รพ.เกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ และ รพ.ศรีระยอง จ.ระยอง ถอนตัวจากสถานพยาบาลระบบประกันสังคมในปี 2561 ว่า รพ.ยันฮีดูแลผู้ประดันตนทั้งหมด 156,579 คน รพ.เกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ ดูแลผู้ประกันตน 149,313 คน และ รพ.ศรีระยอง ดูแลผู้ประกันตน 19,817 คน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าผู้ประกันตนจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะได้จัดสถานพยาบาลทดแทนให้กับผู้ประกันตน โดยขณะนี้ได้ดำเนินการทยอยแจ้งแก่ผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33 และมาตรา 39 เพือ่ให้เลอืกเปลียนสถานพยาบาลแล้ว ซึ่งสามารถดำเนินการได้ภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้ แต่หากไม่ได้ดำเนินการ สปส.จะเลือกสถานพยาบาลที่ใกล้สถานประกอบการที่สุดแก่ผู้ประกันตน

เมื่อถามถึงสาเหตุที่ รพ.เอกชนทยอยลาออกเกี่ยวกับอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์น้อยหรือไม่ นพ.สุรเดชกล่าวว่า สปส.มั่นใจว่าอัตราค่าบริการทางการแพทย์นั้นไม่น้อยเกินไป และการที่ รพ.เอกชนลาออกก็ไม่ได้ให้สาเหตุว่า รพ.ขาดทุนจากประกันสังคม อย่างที่ขอลาออกในปี 2561 เช่น รพ.ยันฮี ก็ระบุอย่างชัดเจนว่าต้องการเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง แต่การที่จะเป็นโรงพยาบาลในระบบประกันสังคมก็จะมีเกณฑ์กำหนดไว้ เช่น ต้องมีแพทย์สาขานั้นนี้ซึ่งทางโรงพยาบาลก็แจ้งว่าไม่ได้อยากทำ แต่อยากทำในสิ่งที่ตนเองถนัด ส่วน รพ.เกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์นั้น มี รพ.การุญเวช ซึ่งเป็นเจ้าของเดียวกันและอยู่ห่างกัน 300 เมตร จึงให้ รพ.การุญเวชรับเพียงแห่งเดียว ส่วน รพ.ศรีระยอง เพราะจำนวนผู้ประกันตนน้อยเกินไป แต่ก็มี รพ.ที่อยู่ใกล้ๆ กันรองรับ ทั้งนี้ แม้จะมี รพ.เอกชนลาออก 3 แห่ง แต่ก็มี รพ.เอกชนเพิ่มเข้ามาในระบบในปี 2561 อีก 2 แห่ง คือ รพ.มิชชั่น และ รพ.เปาโล เกษตร (รพ.เมโยเดิม)

“โรงพยาบาลที่ขาดทุนจริงๆ คือ โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ที่ดูแลผู้ป่วยโรคยากและซับซ้อน ซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) และคณะกรรมการการแพทย์ เห็นว่าควรปรับปรุงในเรื่องของการจ่ายเงินรักษาโรคยาและซับซ้อนให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีผลแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าจะช่วยให้โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่มีสถานการณ์ที่ดีขึ้น และ รพ.เอกชนก็ได้รับอานิสงส์จากการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในครั้งนี้ด้วย” เลขาธิการ สปส.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงความเป็นไปได้ในการตั้ง รพ.ประกันสังคม นพ.สุรเดชกล่าวว่า ผู้ประกันตนส่วนใหญ่อยู่ในเมืองใหญ่ ซึ่งมี รพ.รัฐ รพ.เอกชน เพียงพอที่จะรองรับ และถ้า สปส.จะสร้างเพียงแห่งเดียวก็เหมือนเป็นการเลือกปฏิบัติ แต่ถ้าสร้างก็ต้องสร้างเยอะในเมืองใหญ่ ทำให้ต้องดูดแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ มา รวมถึงดูดมาจากพื้นที่ห่างไกลก็จะเกิดปัญหาบุคลากรทางการแพทย์กระจุกอยู่ในตัวเมืองเพิ่มขึ้นอีก เกิดความเหลื่อมล้ำกับพื้นที่ห่างไกลไปอีก และไม่เป็นธรรมต่อระบบสุขภาพในภาพรวมของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น