สปส.เคลียร์หมดเปลือก เคสผู้ป่วยร้องไม่จ่ายยารักษามะเร็งมัยอีลอยด์ระยะสาม ย้ำเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาระดับประเทศ เหตุเกิดผลข้างเคียงมากกว่าผลดี ป้องกันคนไข้เป็นหนูทดลองยา ชี้มียาขั้นสูงกว่าสามารถเบิกจ่ายได้ทั้งหมด ยันผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
วันนี้ (28 ส.ค.) นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ (CML) ออกมาเรียกร้องให้ สปส.เปลี่ยนกฎเกณฑ์ในการเบิกจ่ายยารักษามะเร็งดังกล่าว เนื่องจากเป็นผู้ป่วยระยะสาม จึงไม่เข้าเกณฑ์ในการเบิกจ่ายยา ซึ่งกำหนดให้เบิกจ่ายในมะเร็งระยะแรกเท่านั้นว่า ขอชี้แจงก่อนว่า ผู้ประกันตนทุกคนที่จ่ายเงินสมทบ เมื่อเจ็บป่วยจะได้รับการรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดการรักษา กรณีผู้ป่วยรายดังกล่าวก็เช่นกัน ยืนยันว่าไม่ต้องมีการจ่ายเงินรักษาเพิ่มแต่อย่างใด
นพ.สุรเดชกล่าวว่า สำหรับกฎเกณฑ์ในการจ่ายยาอิมาตินิบ เพื่อรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะแรกนั้น ถือว่าเป็นไปตามโปรโตคอลหรือแนวทางการรักษา ซึ่ง สปส.ไม่ได้เป็นผู้กำหนด แต่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งและโลหิตวิทยา ร่วมกับราชวิทยาลัยฯ และผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ร่วมกันกำหนดเป็นมาตรฐานของประเทศ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม บัตรทอง หรือสวัสดิการข้าราชการ ก็ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทั้งหมด จากการประชุมของผู้เชี่ยวชาญเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อทบทวนโปรโตคอลในการรักษาในหลายๆ โรค รวมถึงมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ก็พบว่า ยังคงยืนยันตามแนวทางเดิม คือ ยาอิมาตินิบยังคงให้ใช้ในผู้ป่วยมะเร็งในระยะแรก เพราะเป็นผลดีต่อผู้ป่วยมากกว่าเมื่อเทียบกับผลข้างเคียง แต่ในระยะที่ 2 และ 3 พบว่าผลข้างเคียงมีมากกว่าผลดี
“เมื่อรักษาด้วยยาอิมาตินิบไม่ได้ผล จริงๆ แล้วก็ยังมียาตัวที่สูงขึ้นไปได้ ซึ่งมีอีก 2 ตัว คือ ยานิโลทินิบ และยาดาซาตินิบ ซึ่งอยู่ในบัญชียา จ.2 เช่นกัน หากเป็นไปตามข้อบ่งชี้ในการใช้ แพทย์ก็พิจารณาสั่งใช้ได้ และสิทธิประกันสังคมก็ครอบคลุม ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของราคาแต่อย่างใดเลย เพราะยาอีก 2 ที่ที่เป็นยาขั้นสูงกว่า ก็มีราคาแพงกว่า และก็ครอบคลุมตลอดการรักษา ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเช่นกัน” เลขาธิการ สปส.กล่าว
เมื่อถามว่าหากผู้ป่วยยืนยันจะใช้ยาตัวนี้จะสามารถใช้ได้หรือไม่ นพ.สุรเดชกล่าวว่า ก่อนอื่นต้องบอกว่าผู้ป่วยรายนี้ตรวจพบมะเร็งที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า จากนั้นจึงไปรักษากับโรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม คือ รพ.สระแก้ว แต่ไม่สามารถรักษาได้จึงส่งต่อมายัง รพ.รามาธิบดี ทั้งนี้ การรักษาขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากเป็นระยะที่สามแล้วเห็นว่าควรใช้ก็สั่งจ่ายได้ แต่จะไม่เข้าเกณฑ์ข้อบ่งชี้ของ สปส. ซึ่ง รพ.ต้นสังกัดที่ส่งต่อผู้ป่วยจะไม่สามารถเบิกเงินกับทาง สปส.ได้ นอกจากนี้ การรักษาที่ไม่เป็นไปตามข้อบ่งชี้ หากเกิดอะไรขึ้นกับผู้ป่วย แพทย์ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งข้อกำหนดทั้งหมดก็เพื่อไม่ให้คนไข้เป็นหนูทดลองยา
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่บัตรทองมีการจ่ายยาอิมาตินิบให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่ใช่ระยะแรก นพ.สุรเดชกล่าวว่า จริงๆ แล้วการใช้ยาดังกล่าวก็ต้องเป็นไปตามข้อบ่งชี้ คือ ในระยะแรกเท่านั้น ส่วนที่มีการจ่ายยานั้น เป็นยาที่ได้รับบริจาคจากทางบริษัทยากรณีที่ไม่เข้าข่ายในการเบิก
เมื่อถามว่าผู้ป่วยดูจะยึดติดกับยาตัวแรก ต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้ป่วยรายนี้หรือไม่ นพ.สุรเดชกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าแพทย์มีการสื่อสารกับคนไข้อย่างไร แต่ทาง สปส.เคยพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ป่วยรายนี้มาแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่ก่อนมีการออกมารณรงค์เรื่องเปลี่ยนกฎรักษา