ผู้ป่วยร้องขอชีวิต หลัง “ประกันสังคม” ไม่ยอมเบิกยารักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัยอีลอยด์ อ้างเบิกยารักษาเฉพาะมะเร็งระยะแรกเท่านั้น ถามจะปล่อยให้ตายทั้งที่มียารักษาหรือ ทั้งที่ส่งเงินสมทบมากว่า 10 ปี ระบุสร้างแคมเปญผ่าน change สนับสนุนการเปลี่ยนกฎการรักษา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ ในสิทธิประกันสังคม (สปส.) ชื่อ น.ส.ฐิชารัศม์ มณีศรีธนนท์ ได้ออกมาเชิญชวนผู้ประกันตนร่วมลงชื่อผ่าน change.org “คนไข้ประกันสังคม วอนขอชีวิต หลังพบเป็นมะเร็งเม็ดเลือดระยะ 3 (CML)” ระบุว่า ได้ตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์และโรคได้ลุกลามมาเป็นระยะสุดท้าย คือ ระยะที่ 3 แต่โรคนี้จริงๆ แล้วมียาที่สามารถรักษาโรคนี้ถึง 3 ชนิดด้วยกัน แต่ปรากฏว่าประกันสังคมสามารถอนุมัติให้เฉพาะคนที่เป็นระยะแรกเท่านั้น
“ดังนั้น หมายถึงว่าแม้แต่มียาที่ดีที่สามารถรักษาได้ แต่ดิฉันก็ไม่มีปัญญาได้ใช้มัน เพราะประกันสังคมได้ตั้งกฎที่ตลกมากคือ ให้ยารักษาคนที่เป็นระยะแรก แต่ระยะที่ 2 และ ระยะที่ 3 ไม่ให้เบิกยา อยากทราบว่า ประกันสังคมจะปล่อยให้ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาเป็นเวลาสิบๆ ปีตาย เพราะไม่ได้รับการรักษาหรืออย่างไร ดิฉันเข้าใจดีว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฏ แต่กฎที่ตั้งมาให้รักษาระยะแรกได้ แต่ระยะอื่นจะปล่อยให้ตายอย่างนั้นเหรอคะ ตั้งมาได้อย่างไรกัน ดิฉันเขียนเรียกร้องในครั้งนี้เพื่อตัวดิฉันเองและเพื่อนๆ ที่เป็นโรคเดียวกันอีกหลายคน หากวันหนึ่งโรคกำเริบเป็นระยะที่ 2 หรือ ระยะที่ 3 คุณจะปล่อยให้ตายไปเลยหรือ ทั้งที่ยาที่รักษานั้นสามารถรักษาได้ผลดีมากๆ”
“ยาตัวนี้ตกเม็ดละประมาณ 1,000 - 1,200 บาท ซึ่งผู้ป่วยต้องใช้ยาตามปริมาณที่แตกต่างกัน อาจต้องกินวันละ 4 - 6 เม็ด รวมค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 7,200 บาท/วัน หรือ 200,000 บาท/เดือน ดิฉันและเพื่อนๆ ผู้ป่วยทุกคนขอวิงวอน ขอแรงจากโลกออนไลน์ทุกท่านช่วยสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขกฎระเบียบตรงนี้เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเบิกยาได้ทุกตัว แม้ว่าจะเป็นระยะไหนก็ตาม เพราะดิฉันคิดว่าแม้แต่ 1 เปอร์เซ็นต์รอดของชีวิตดิฉัน ก็คือชีวิต”
“ดิฉันขอเรียกร้องชีวิต ขอความเมตตาให้ดิฉันได้มีชีวิตและได้รับยารักษาชีวิต เหตุผลก็เพราะว่าดิฉันได้ส่งเงินสมทบมาตั้งแต่ปีที่เริ่มทำงานปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบันปี พ.ศ. 2560 เป็นเวลา เกือบ 12 ปี เมื่อยามเจ็บป่วยก็ควรได้รับสิทธิ์การรักษาที่ดีจากสำนักงานที่เรียกว่าแห่งชาติ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีการเชิญชวนให้ร่วมลงชื่อเรียกร้องสิทธิการรักษา ได้มีการแชร์เรื่องนี้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน แชร์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ปรากฏว่า มีผู้ร่วมสนับสนุนแล้วกว่า 7 พันคน ณ วันที่ 24 ส.ค. โดยได้แสดงความเห็นมากมายในลักษณะไม่เข้าใจ เพราะอะไรถึงไม่ให้สิทธิรักษาผู้ป่วย บางคนชูระบบสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ว่า ยังให้สิทธิรักษามากกว่าประกันสังคมเสียอีก เป็นต้น
นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สิทธิการรักษามะเร็งของบัตรทองนั้นต่างจากประกันสังคม โดยสิทธิบัตรทองจะรักษาตามสูตรการรักษาที่อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้มีการวางแนวทางไว้ โดยจะครอบคลุมการรักษาทั้งหมด ไม่ว่าจะตามพบโรคในระยะไหน เนื่องจากยารักษามะเร็ง หรือยาเคมีบำบัดต่างๆ นั้น อยู่ในบัญชียาพื้นฐานของสิทธิการรักษาอยู่แล้ว อาจจะมียาบ้างตัวที่ได้รับการวิจัยผลิตขึ้นมาใหม่ ปรับสูตรใหม่ แล้วสามารถรักษาได้ดีกว่า หรือคนไข้บางรายจำเป็นต้องใช้ยาที่อยู่นอกเหนือจากยาพื้นฐาน เรียกว่าตัวยานอกการปกครอง เมื่อแพทย์สั่งจ่ายให้ก็จะครอบคลุมอยู่ในสิทธิเช่นกัน