สปสช. ร่วมแพทย์ด้านมะเร็ง สธ. ราชวิทยาลัย ปรับปรุงแนวทางรักษาผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทอง ปี 61 เพิ่มเป็น 11 กลุ่มโรค 21 โปรโตคอล ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมยาจำเป็นหลายรายการ
วันนี้ (6 ก.ค.) ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กทม. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงข่าวพัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2561 โดย ศ.คลินิก พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ ประธานคณะทำงานพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช.
ศ.คลินิก พญ.สุดสวาท กล่าวว่า การพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการรักษาผู้ป่วยมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้ครอบคลุมและทั่วถึง และผู้ให้การรักษาได้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติและติดตามคุณภาพการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ การให้สิทธิประโยชน์มะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองที่ผ่านมานั้น ต้องบอกว่าทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ปัจจุบันมียาจำเป็นหลายกลุ่มที่ค่อนข้างแพง มีการให้ยาเคมีบำบัดหลายชนิดที่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ที่ผ่านมา มีการจัดทำแนวทางการรักษาโรคมะเร็ง หรือ โปรโตคอล (Protocol) เพื่อประกอบการจ่ายชดเชยค่าบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2551 ที่มาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่รักษาโรคมะเร็ง ราชวิทยาลัย Service Plan ของกระทรวงสาธารณสุข สมาคมทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ศ.คลินิก พญ.สุดสวาท กล่าวต่อว่า การที่ต้องกำหนดโปรโตคอล (Protocol) หรือสูตรยาเคมีบำบัดที่เป็นที่ยอมรับกันในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ นั้น ก็เพื่อให้มีมาตรฐานการรักษา ซึ่งยารักษามะเร็งนั้นจำเป็นต้องมีโปรโตคอลเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ก็จะมีสมาคมวิชาชีพที่เป็นกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่รักษาโรคมะเร็งจัดทำแนวทางการรักษา หรือโปรโตคอลการรักษามะเร็งเช่นกัน โดยมีผู้เชี่ยวชาญของแต่ละสมาคมมาให้ความรู้ เอาข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์เข้ามาจับ และมาช่วยกันทำ เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการรักษามะเร็งในรูปแบบต่างๆ เช่น แนวทางการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง
การจัดทำสูตรโปรโตคอลรักษาผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทองนั้น จะมีการทบทวนโปรโตคอลทุก 3 ปี โดยยึดหลักการจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมถึงรายการยาที่จำเป็น และเพิ่งทบทวนกันไป กำลังจะประกาศใช้ใน 1 ต.ค.2560 นี้ จากปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยมะเร็งในสิทธิบัตรทองมีแนวทางการรักษา 8 กลุ่มโรค 11 โปรโตคอล และในปี 2561 นี้จะเพิ่มเป็น 11 กลุ่มโรค 21 โปรโตคอล ดังนี้ 1. มะเร็งเต้านม 2. มะเร็งปอด 3. มะเร็งลำไส้ใหญ่ 4. มะเร็งหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร 5. มะเร็งตับทางเดินน้ำดี 6. มะเร็งหลังโพรงจมูก 7. มะเร็งนรีเวช ปากมดลูก รังไข่ มดลูก 8. มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก 9. มะเร็งกระดูก 10. มะเร็งโรคเลือดผู้ใหญ่ 11. มะเร็งในเด็ก
“วิวัฒนาการในการรักษาโรคมะเร็งที่สำคัญมีความก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ เดิมเป็นยาเคมีบำบัดพื้นฐาน ต่อมามียาเคมีบำบัดตัวใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และยังมียามุ่งเป้าที่เรียกว่า Targeted therapy ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งที่มีเป้า เช่น ยาต้าน HER-2 ในมะเร็งเต้านมที่มีเป้า HER-2 เป็นบวก ยากลุ่มนี้ราคาแพงมาก ประมาณปีละ 5 แสนบาท แต่ทาง สปสช. ก็ได้พิจารณาถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่ผู้ป่วย จึงได้จัด Protocal ให้สำหรับการรักษาเสริมหรือที่เรียกว่า Adjuvant Therapy ด้วยยาต้าน HER-2 คือ Trastuzumab ให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกที่มีต่อมน้ำเหลืองเป็นบวก และมี HER-2 เป็นบวก นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาสิทธิประโยชน์ให้ยามุ่งเป้า Rituximab ในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Diffuselarge B cell ที่มีเป้า CD20 เป็นบวกด้วย ซึ่งราคายาประมาณ 4-5 แสนบาทต่อชุด” ศ.คลินิก พญ.สุดสวาท กล่าว
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ ยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการรักษาก็มีราคาสูงมาก ขณะที่องค์ความรู้ด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สปสช. ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ร่วมกันพัฒนาและปรับปรุงแนวทางการรักษาโรคมะเร็งขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคณะทำงานซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษามะเร็ง Service Plan กระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยและสมาคมทางการแพทย์ต่างๆ ที่ได้กรุณาระดมสมองร่วมกันจัดทำแนวทางการรักษาโรคมะเร็ง หรือโปรโตคอลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐานได้ครอบคลุมและทั่วถึง
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า สถานการณ์ผู้ป่วยมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนการใช้บริการเพิ่มขึ้น ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ในการชดเชยค่าบริการ ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ 6,882 ล้านบาท (ผู้ป่วยนอกเฉลี่ยปีละ 1,356 ล้านบาท ผู้ป่วยในเฉลี่ยปีละ 5,526 ล้านบาท) คิดเป็น 6% ของงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งหมด ความท้าทายในการพัฒนาการบริหารจัดการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในระยะต่อไป คือ เพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทอง การกำกับคุณภาพมาตรฐานหน่วยบริการ พัฒนาระบบบการจ่ายชดเชยให้เหมาะสม และพัฒนาการบูรณาการระบบข้อมูลสารสนเทศการให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ทั้งนี้ ในการดำเนินการมีคณะทำงานย่อย 3 คณะ คือ 1. คณะทำงานพัฒนามาตรฐานหน่วยบริการที่ให้บริการรักษาโรคมะเร็งด้วยเคมีบำบัด/รังสีรักษา ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มี ศ.พญ.ลักษณา โพชนุกูล เป็นประธาน 2. คณะทำงานพัฒนาการจ่ายชดเชยค่าบริการโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มี ศ.คลินิก พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ เป็นประธาน และ 3. คณะทำงานพัฒนาระบบลงทะเบียนผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มี รศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ เป็นประธาน